เงินเฟ้อ ต.ค. ขยับขึ้นแค่ 1.46% เหตุสินค้าส่วนใหญ่ราคาขยับขึ้นไม่มาก แถมน้ำมันลด รัฐบาลคงมาตรการดูแลค่าครองชีพ ส่งผลให้ 10 เดือน เงินเฟ้อโต 2.27% คาดทั้งปีเหลือแค่ 2.1-2.6%
น.ส.อุรวี เงารุ่งเรือง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ต.ค. 2556 เท่ากับ 105.76 สูงขึ้น 0.17% เทียบกับ ก.ย. 2556 และสูงขึ้น 1.46% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2555 ซึ่งเป็นการสูงขึ้นเล็กน้อยต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา เพราะราคาสินค้าส่วนใหญ่ไม่ปรับขึ้นมาก น้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาลดลง และรัฐบาลยังคงมาตรการดูแลค่าครองชีพ ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนปี 2556 (ม.ค.-ต.ค.) สูงขึ้น 2.27% ซึ่งสูงขึ้นในอัตราที่ลดลงเช่นเดียวกัน
ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 1.46% เป็นผลมาจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 2.87% สินค้าราคาแพงขึ้น เช่น แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 1.57% เนื้อสัตว์เป็ดไก่และสัตว์น้ำ 9.88% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 8.51% ผักและผลไม้ 0.1% เครื่องประกอบอาหาร 1.27% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 0.77% อาหารสำเร็จรูป 1.30% โดยสินค้าที่ราคาลดลง เช่น ผักสด ลด 0.74% ผลไม้สด ลด 0.13%
ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.75% สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 0.91% เคหสถาน 0.86% การรักษาและบริการส่วนบุคคล 0.66% การขนส่งและการสื่อสาร 0.59% การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา 0.49% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ 3.52%
“เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอัตราชะลอลง ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากสาเหตุคนชะลอการใช้จ่าย แต่เบื้องต้นสินค้าที่ราคาเริ่มปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว ทำให้ผลผลิตผักและผลไม้ออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเหมือนที่คาดการณ์ไว้ และรัฐบาลยังคงมาตรการดูแลค่าครองชีพ จึงทำให้เงินเฟ้อในชะลอตัวลง” น.ส.อุรีวีกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เป้าหมายเงินเฟ้อ ในปี 2556 ว่าจะขยายตัวตามกรอบที่มีการประเมินใหม่ที่ 2.1-2.6% ซึ่งเป็นการปรับประมาณการลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 2.8-3.4% ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ค่าเงินบาท 28-32 บาท/เหรียญสหรัฐ และรัฐบาลยังคงมาตรการดูแลค่าครองชีพ