“สมชาติ” สั่งมอนิเตอร์สินค้าทั้งระบบ จัดทำบัญชีดูแลใหม่ หวังตามให้ทันผู้ผลิต และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง หลังสินค้าติดตามนิ่งสนิทไม่ขยับราคา แต่กลับพบผู้ผลิตหัวหมอ ทำรายการใหม่ใส่ส่วนผสมเพิ่มแล้วขึ้นราคาแทน ยันปีนี้เอาอยู่ สินค้าไม่ขึ้น แต่ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ ใครต้นทุนเพิ่มให้ยื่นมาจะพิจารณาตามเหมาะสม พร้อมคุยห้างลดค่าเช่าดึงราคาจานด่วนอีกทาง
นายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมฯ ไปทำการสำรวจและปรับปรุงรายการสินค้าในบัญชีติดตามดูแลจำนวน 205 รายการใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่รูปแบบการผลิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะสินค้าบางรายการแม้จะอยู่ในบัญชีติดตามดูแล แต่เป็นสินค้าที่ผู้ผลิตไม่ผลิตแล้วหรือผลิตออกมาเป็นจำนวนน้อย ขณะที่ผู้บริโภคไม่นิยมใช้สินค้ารายการดังกล่าวแล้ว หากยังคงติดตามต่อไปก็จะทำให้การดูแลภาวะราคาสินค้าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
“ขณะนี้พบว่าสินค้าหลายรายการที่อยู่ในบัญชีดูแล ผู้ผลิตจะไม่มาขอปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะรู้ว่าได้รับการอนุมัติยาก จึงใช้วิธีการไปผลิตสินค้าขนาดใหม่ ใส่ส่วนผสมใหม่แล้วขายราคาใหม่ พอสินค้าติดตลาด ก็ผลิตรายการเดิมที่อยู่ในบัญชีดูแลลดลง หรือเลิกผลิตในที่สุด แล้วพอผู้บริโภคนิยมสินค้ารายการใหม่ก็จะมีการปรับขึ้นราคา เพราะไม่อยู่ในบัญชีดูแลซึ่งกรมฯ จะต้องตามผู้ผลิตให้ทัน จึงต้องปรับปรุงบัญชีสินค้าติดตามดูแลให้มีความทันสมัย เพื่อดูแลภาวะราคาสินค้า และดูแลผู้บริโภค” นายสมชาติกล่าว
ปัจจุบันมีสินค้าที่กรมฯ ดูแลอยู่ 205 รายการ ครอบคลุมสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ ผัก นมและผลิตภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้ากลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบ สินค้ากลุ่มก่อสร้าง สินค้าทางการเกษตร เป็นต้น โดยในแต่ละเดือนจะมีการขึ้นบัญชีสินค้าที่ต้องติดตามดูแลเป็นประจำทุกวัน หากมีความเคลื่อนไหวด้านราคาผิดปกติ และติดตามทุก 2 สัปดาห์ และเป็นรายเดือน สำหรับสินค้าที่คาดว่าจะมีความเสี่ยง
นายสมชาติกล่าวว่า แนวทางการดูแลราคาสินค้า กรมฯ ได้มีการติดตามภาวะต้นทุนของผู้ผลิตอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ ยังไม่มีผู้ผลิตรายการใดยื่นเรื่องของปรับราคาสินค้าเข้ามา เพราะยังอยู่ในช่วงการขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้าไปจนถึงสิ้นปี 2556 และกรมฯ เชื่อว่าแม้จะพ้นช่วงตรึงราคาไปแล้ว ก็จะยังไม่มีผู้ผลิตขอปรับราคาเข้ามามากยกเว้นรายการที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากจริงๆ ซึ่งกรมฯ ก็พร้อมที่จะพิจารณาให้ตามความเหมาะสม เพื่อให้กลไกตลาดทำงานได้ตามปกติ
สำหรับการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเดือนละ 50 สตางค์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเดือนที่ 2 ของการปรับขึ้น ยังไม่พบว่า ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของสินค้า โดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) เพราะกรมฯ ได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด โดยได้ประสานตลาดที่อยู่ในความดูแล เป็นศูนย์กลางในการกระจายวัตถุดิบให้กับร้านอาหารธงฟ้า ทำให้ต้นทุนไม่ปรับเพิ่มขึ้นและยังได้ขอความร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกรายใหญ่ ให้ช่วยตรึงราคาอาหารปรุงสำเร็จในห้างด้วย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
“กรมฯ กำลังหาทางให้ห้างขายอาหารจานด่วนได้ในราคาถูกลงอีก โดยกำลังคุยกับห้างเพื่อขอให้ลดราคาค่าเช่าพื้นที่ขายอาหาร ซึ่งหลายๆ ห้างได้แจ้งว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือแล้ว เช่น เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี แม็คโคร และเซ็นทรัล ซึ่งจะช่วยให้ราคาอาหารในห้างไม่ปรับเพิ่มขึ้น และขายในราคาต่ำได้ต่อไป” นายสมชาติกล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ปัจจุบันนี้มีสินค้าหลายรายการได้ปรับราคาทางอ้อม โดยใช้วิธีการลดไซส์ เพิ่มขนาด หรือเพิ่มส่วนผสม และโฆษณาว่าเป็นสินค้ารายการใหม่ ซึ่งในช่วงแรกๆ อาจจะใช้วิธีการจัดโปรโมชันลดแลกแจกแถมเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้า เมื่อสินค้าได้รับความนิยมก็จะกลับมาขายในราคาปกติ และปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ยกตัวอย่างเช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รายการที่อยู่ในบัญชีดูแลจะคุมราคาอยู่ที่ซองละ 6 บาท ซึ่งผู้ผลิตก็ผลิตออกมาจำหน่ายอยู่ แต่จะผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอื่นๆ ออกมามากกว่า เช่น การเพิ่มส่วนผสม หมู ไก่ กุ้ง หรือทำเป็นกล่อง เป็นถ้วย และขายในราคาที่แพงขึ้น หรือแชมพูสระผม รายการที่อยู่ในบัญชีดูแล ก็จะไม่ค่อยผลิต แต่จะผลิตรายการที่มีการเพิ่มส่วนผสมต่างๆ เข้ามา และขายในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการปรับราคาขึ้นทางอ้อม