สนข.ชงสร้าง “บีอาร์ที” เชื่อมเดินทางศูนย์คมนาคมพหลโยธิน กับรถไฟฟ้าใต้ดินและบีทีเอส ชี้ลงทุนน้อย รองรับการเดินทางได้ 5,000 คน/วัน ประเมิน ร.ฟ.ท.ได้ผลตอบแทนพัฒนาเชิงพาณิชย์ในพื้นที่สูงถึง 46% ของค่าธรรมเนียม ค่าเช่าที่ เตรียมสรุปเสนอ “คมนาคม” ธ.ค.นี้ ให้บริการปี 60
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 งานศึกษาพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธิน วานนี้ (16 ต.ค.) ว่า พื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินมีขนาด 2,325 ไร่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นชุมทางรถไฟฟ้าหลายสาย ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางไกล รถไฟฟ้าในเมือง การศึกษานี้เป็นการวางผังการใช้พื้นที่ทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์และระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งในเรื่องการเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมในพื้นที่ควรเป็นรูปแบบที่เหมาะสมคือรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที หรือรถราง (แทรมเวย์) เนื่องจากลงทุนไม่มากแต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประเมินตัวเลข
ทั้งนี้ เบื้องต้นแนวเส้นทางจะเป็นโครงสร้างระดับดิน อาจมีบางส่วนยกข้ามถนนเดิมเพื่อความคล่องตัว เริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อ มีจุดจอดรถ 13 สถานี มีเส้นทางเป็นวงกลมในพื้นที่ รับผู้โดยสารในพื้นที่สำคัญ เช่น สถานีรถไฟฟ้าบนดิน-ใต้ดิน ปตท. เซ็นทรัลลาดพร้าว เป็นต้น แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 รองรับการเดินทางตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน-บีทีเอส สถานีกลางบางซื่อ จนถึงห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ระยะที่ 2 ขยายเส้นทางวนไปทางตึกเอนเนอยี่คอมเพล็กซ์ กม.11
ด้านนายวิจิตต์ นิมิตวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สนข. กล่าวว่า ภาพรวมการเชื่อมโยงโครงข่ายในพื้นที่จะใช้บีอาร์ที ใช้เงินลงทุนไม่สูง แต่สามารถรองรับคนได้ตามสัดส่วนในแต่ละวันที่คาดว่าจะมีผู้ใช้ประมาณ 5,000 เที่ยวคนต่อวัน ส่วนการลงทุนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในส่วนของพลาซาในพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.นั้นจะมีการพิจารณาในรูปแบบต่างๆ โดย ร.ฟ.ท.จะได้ผลตอบแทนจากการเช่าพื้นที่ในระยะเวลา 34 ปี ประมาณการ ร.ฟ.ท.จะได้รับค่าตอบแทนสูงถึง 46% ของค่าธรรมเนียม ค่าเช่าที่
สำหรับการทำทางเชื่อมต่อระหว่างถนนในพื้นที่กับทางพิเศษจะมี 2 จุด คือ เชื่อมต่อทางขึ้นลงทางพิเศษศรีรัช และเชื่อมต่อทางลงทางยกระดับอุตราภิมุข การปรับปรุงทางเดินเท้าและจักรยานบนถนนกำแพงเพชร 2 กำแพงเพชร 3 กำแพงเพชร 4 และถนนนิคมรถไฟสาย 1 อย่างไรก็ตาม จะนำเสนอผลการศึกษานี้ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในเดือน ธ.ค.นี้ ในส่วนของแผนงานได้ตั้งเป้าที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560