ทางหลวงชนบทเดินหน้าปรับปรุงจุดเสี่ยง 954 แห่งทั่วประเทศ แก้ทางโค้ง ทางแยก สะพานแคบ จุดตัดรถไฟ เพิ่มแสงสว่าง ไฟกะพริบและป้ายเตือน ตั้งเป้าลดการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ถนนสายรอง เผยถนนน้ำท่วมเริ่มลดลง เฝ้าระวัง 2 สายที่ปทุมธานีใกล้พื้นที่รับน้ำจากนครนายก ส่วน ทล.ท่วม 15 สายทางใน 7 จังหวัด
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า จากสภาพความไม่ปลอดภัยอันเนื่องมาจากข้อจำกัด ด้านสภาพเขตทางทำให้ถนนของ ทช. ซึ่งส่วนใหญ่ก่อสร้างบนบนแนวเขตทางที่ได้จากการอุทิศที่ดินของประชาชน ทำให้แนวก่อสร้างมักมีโค้งรัศมีแคบ เขตทางแคบ เกิดเป็นจุดอันตรายต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ทช.จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554 - 2563 เพื่อปรับปรุงแก้ไขบริเวณเสี่ยงอันตรายจำนวน 954 แห่งทั่วประเทศ โดยปัจจุบันได้ดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 798 แห่ง ประกอบด้วยงานปรับปรุงแก้ไขบริเวณทางแยก ทางโค้ง ทางแคบ สะพานแคบ จุดตัดรถไฟ บริเวณย่านชุมชน ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจร ไฟกะพริบ ราวกันอันตราย (Guard Rail) เพื่อป้องกันอันตรายบริเวณทางโค้ง เป็นต้น โดยเมื่อการปรับปรุงบริเวณจุดเสี่ยงอันตรายแล้วเสร็จทั้งหมด จะช่วยให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกและเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินมากยิ่งขึ้น
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม ล่าสุดถึงวันที่ 2 ตุลาคม มีถนนและสะพานของ ทช.ได้รับผลกระทบ จำนวน 18 จังหวัดจำนวน 170 สายทาง รถสัญจรผ่านได้ 140 สายทาง สัญจรผ่านไม่ได้และอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข 30 สายทาง โดยอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดศรีสะเกษจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีสายทางถูกน้ำท่วมสูงสุดที่ 1.50 เมตร และยังเป็นพื้นที่ที่ต้องติดตามระดับน้ำอย่างใกล้ชิด
โดยพื้นที่จังหวัดปทุมธานีต้องเฝ้าระวัง 2 สายทางที่สำคัญ คือ สาย ปท.3011 แยกทางหลวงหมายเลข 305 (กม.ที่ 34+000) - บ้านคลอง 14 หกวา อำเภอธัญบุรี, ลำลูกกา ซึ่งเป็นเส้นทางที่อยู่บริเวณพื้นที่รับน้ำคลอง 14หกวาสายล่าง กับน้ำในพื้นที่จังหวัดนครนายก และ ปท.3033 แยกทางหลวงหมายเลข 305 (กม.ที่34+150) - บ้านหนองหมู อำเภอธัญบุรี, หนองเสือ อาจได้รับผลกระทบจากการผันน้ำในพื้นที่อำเภอวิหารแดง ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ได้ตรวจ ติดตาม ระดับน้ำอย่างใกล้ชิด
ด้านนายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมถนนของทล.ล่าสุดว่า ยังมีถนนถูกน้ำท่วมในพื้นที่ 7 จังหวัด จำนวน 15 สายทาง (จำนวนรวม 15 แห่ง ผ่านได้ 13 แห่ง, ผ่านไม่ได้ 2 แห่ง) ทั้งนี้ มี 2 สายทางที่ผ่านไม่ได้ในจังหวัดปราจีนบุรี คือ ทางหลวงหมายเลข 3078 ระเบาะไผ่-ประจันตคาม ท้องที่อำเภอศรีมหาโพธิ ช่วงกม.ที่ 16 - 26 เป็นแห่งๆ ระดับน้ำสูง 20-55 เซนติเมตร ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 33-ทางหลวงหมายเลข 304 (แยกกบินทร์ฯ) และ ทางหลวงหมายเลข 3079 ปราจีนบุรี-ศรีมหาโพธิ ท้องที่อำเภอศรีมหาโพธิ ช่วง กม.ที่ 2-19 เป็นแห่งๆ ระดับสูง 15-45 เซนติเมตร ให้ใช้เส้นทาง ทางหลวงชนบทหมายเลข 4018-ทางหลวงหมายเลข 3070-ทางหลวงหมายเลข 3079 (แยกโคกขวาง) แทน