xs
xsm
sm
md
lg

Skyscanner เปิดตลาดไทยเอาใจนักเดินทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“แอนดี้ สเล” (ซ้าย) ผู้บริหารสำนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พร้อมด้วย “เกรซ ภพปภา อารีรัตน์” (กลาง)  ผู้จัดการพัฒนาตลาดประเทศไทย และ “แชม พูแล็ง” (ขวา) ประชาสัมพันธ์เอเชียแปซิฟิก ร่วมเปิดตัว Skyscanner เว็บไซต์ค้นหา (Search Engine) เกี่ยวกับการเดินทางอันดับหนึ่งของยุโรป
ASTVผู้จัดการรายวัน - ASTVผู้จัดการรายวัน - เว็บไซต์ Search Engine ด้านการเดินทางอันดับหนึ่งของยุโรปโหมทำตลาดเอเชียแปซิฟิก หลังพบยอดผู้ใช้งานและรายได้โตพรวด 400% ในปี 55 เผยบริการครอบคลุมจองตั๋วเครื่องบินกว่า 1 พันสายการบินทั่วโลก รวมให้บริการโรงแรมที่พัก และรถเช่าโดยไม่คิดค่าธรรมเนียมเพิ่ม พร้อมพัฒนาแอปพลิเคชันภาษาไทยและอีกกว่า 30 ภาษา

นายแอนดี้ สเล ผู้บริหารสำนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Skyscanner เว็บไซต์ค้นหา (Search Engine) เกี่ยวกับการเดินทาง เปิดเผยว่า หลังจากที่เปิดตัวเว็บไซต์ครั้งแรกที่ประเทศสกอตแลนด์เมื่อปี 2546 ปัจจุบันธุรกิจมีการเติบโตขึ้นมากจนกลายเป็นโปรแกรมค้นหาตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พัก และรถเช่าอันดับหนึ่งของทวีปยุโรป จึงได้ขยายธุรกิจเข้ามายังทวีปเอเชียแปซิฟิก โดยเปิดสำนักงานขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2554 ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากผู้ใช้งานอย่างดี จากที่เคยมีส่วนแบ่งตลาด 7% คาดว่าจะเพิ่มเป็น 22% ในปี 2556 และน่าจะเติบโตจนถึง 30% ในปี 2557

Skyscanner ถือเป็นเว็บไซต์อิสระที่นักเดินทางทั่วโลกนิยมใช้บริการ เพราะมีตัวเลือกสำหรับการค้นหาข้อมูลด้านต่างๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติม โดยในแต่ละเดือนมีผู้ใช้บริการเข้าชมเว็บไซต์ประมาณ 5 หมื่นคนใน 40 ประเทศ คิดเป็นจำนวนรวมถึง 60 ล้านครั้งต่อเดือน ในจำนวนดังกล่าวยังมีผู้กลับมาใช้บริการมากถึง 55% ทำให้ในช่วงปี 2555 มีมูลค่าการจองตั๋วเครื่องบินผ่านเว็บไซต์สูงถึง 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับใช้งานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบด้วยภาษาต่างๆ ถึง 33 ภาษารวมถึงภาษาไทย ทำให้มีจำนวนการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของโทรศัพท์เคลื่อนที่มากถึง 25 ล้านครั้ง

“ทวีปเอเชียแปซิฟิกถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาเรามีรายได้และจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์สูงถึง 400% จึงทำให้ในปี 2556 มีการเปิดสำนักงานใหม่ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน พร้อมแต่งตั้งผู้จัดการพัฒนาตลาดในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงจากเดิมในปี 2555 ซึ่งมีผู้ใช้บริการผ่านคอมพิวเตอร์และแอปพลิเคชันในสัดส่วนเท่ากัน ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการผ่านคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นเป็น 62% ขณะที่ใช้ผ่านแอปพลิเคชันมี 38%”

ทางด้าน น.ส.เกรซ ภพปภา อารีรัตน์ ผู้จัดการพัฒนาตลาดประเทศไทย เปิดเผยว่า จุดเด่นของเว็บไซต์ Skyscanner คือการใช้งานที่ง่ายและสะดวกสบาย โดยผู้ใช้งานเพียงค้นหาการเดินทางด้วยคำว่า “ทุกที่” ก็จะได้รับข้อมูลต่างๆ อย่างครบครัน ทั้งเรื่องตั๋วเครื่องบินจากสายการบินชั้นนำและสายการบินต้นทุนต่ำ รวมแล้วกว่า 1 พันสายการบินทั่วโลก พร้อมโรงแรมที่พักและราคา โดยไม่มีการคิดค่าบริการเพิ่มเติมแต่อย่างใด

“สำหรับตลาดประเทศไทยนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มเติมให้ครบทุกด้าน ทั้งโรงแรมที่พักและรถเช่า หลังจากที่ได้เป็นพันธมิตรกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะเปิดสำนักงานในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในอนาคตหากตลาดในประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังจากพบว่าในประเทศไทยมีผู้ค้นหาการเดินทางด้วยคำว่าทุกที่เพิ่มขึ้นถึง 193% จากปี 2555 โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานเป็นจำนวน 1.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 180% ขณะที่การใช้งานผ่านแอปพลิเคชันก็มีการขยายตัวเช่นกันจากปี 2554 ซึ่งมีเพียง 8 หมื่นคน ล่าสุดพบว่ามีการใช้งานถึง 1.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 256%”

จากการสำรวจของ Skyscanner พบว่า สื่อที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อการเดินทางคือโซเชียลมีเดีย 30% รองลงมาคือเว็บไซต์บริษัทท่องเที่ยว 17% รายการโทรทัศน์ 14% เพื่อนบอกต่อ 14% โบรชัวร์การท่องเที่ยว 12% และจากกระดานข่าวนักท่องเที่ยวในเว็บไซต์ต่างๆ 9% โดยพบว่าประเทศที่นักเดินทางจากประเทศไทยนิยมไปมากที่สุด 10 อันดับแรกในปี 2556 คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย เยอรมนี และออสเตรเลีย

ส่วน 10 ประเทศที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ ญี่ปุ่น มัลดีฟส์ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ฮ่องกง กรีซ อิสราเอล ตุรกี และออสเตรีย โดยประเทศที่นักเดินทางจากไทยนิยมเดินทางในช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ. ได้แก่ สหราชอาณาจักร จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เวียดนาม อินเดีย และเยอรมนี


กำลังโหลดความคิดเห็น