“ประภัสร์” กำชับติดตามสถานการณ์น้ำท่วมเส้นทางรถไฟใกล้ชิด ประกาศงดเดินรถชานเมืองสายกรุงเทพฯ-อรัญฯ เนื่องจากน้ำท่วมย่านสถานีรถไฟปราจีนบุรีทำให้กระทบระบบสื่อสารควบคุมอาณัติสัญญาณ ส่วนจุดอื่นๆ หากไม่ปลอดภัยจะประกาศหยุดเดินรถทันทีเช่นกัน ยอมรับซ่อมทางสายเหนือเริ่มล่าช้า เหตุขาดแรงงานเร่งหาแรงงานต่างด้าวช่วย ยันไม่เลื่อนเปิดเดินรถ ด้านกรมทางหลวงเผย 23 สายทางยังจมน้ำ
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในขณะนี้ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดน้ำท่วมเส้นทางรถไฟ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องงดการเดินขบวนรถเส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี เพราะกระแสน้ำไหลเข้าท่วมทางพัดหินรองรางสูญหาย และขณะนี้มีอีกหลายจังหวัดที่ระดับน้ำยังท่วม โดยเฉพาะจังหวัดปราจีนบุรี โดยทางรถไฟกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี ขณะนี้ปริมาณน้ำท่วมสันราง 4 เซนติเมตร จึงได้กำชับเจ้าหน้าที่คอยสังเกตระดับน้ำต่อเนื่อง หากปริมาณน้ำสูงเกินความเสี่ยงการรถไฟฯ จำเป็นต้องประกาศหยุดเดินรถทันทีเพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีน้ำท่วมขังภายในย่านสถานีปราจีนบุรีเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ระบบการสื่อสารสัญญาณโทรคมนาคม รวมถึงเกิดอุปสรรคต่อระบบการเดินรถ การรถไฟฯ จึงประกาศงดเดินขบวนรถโดยสารชานเมืองที่ 279 (กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ) ตั้งแต่ช่วงสถานีปราจีนบุรี ถึงอรัญประเทศ และส่งผลให้ขบวนรถโดยสารที่ 276 เที่ยวเข้ากรุงเทพฯ ช่วงสถานีอรัญประเทศ ถึงปราจีนบุรี ต้องประกาศงดเดินรถไฟไปด้วยเพราะไม่มีตู้โดยสารรองรับ
สำหรับความคืบหน้าปิดซ่อมเส้นทางรถไฟสายเหนือ ตั้งแต่สถานีศิลาอาสน์ถึงจังหวัดเชียงใหม่นั้น นายประภัสร์ยอมรับว่าขณะนี้ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานกว่า 100 คน เพราะแรงงานส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมจึงต้องกลับภูมิลำเนา เบื้องต้นทางบริษัทผู้รับเหมาซ่อมทางจำเป็นต้องจัดหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่เลื่อนกำหนดเปิดเส้นทางสายเหนือในวันที่ 31 ตุลาคมนี้แน่นอน
ด้านนายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ขณะนี้ถนนของกรมทางหลวงยังถูกน้ำท่วมจำนวน 23 สายทาง (จำนวนรวม 23 แห่ง ผ่านได้ 18 แห่ง, ผ่านไม่ได้ 5 แห่ง) ในพื้นที่ 10 จังหวัดซึ่งผู้ใช้รถใช้ถนนยังต้องหลีกเลี่ยงเส้นทาง 5 สายทางในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดอุทัยธานี ทางหลวงหมายเลข 3319 บันไดสามขั้น-ทัพทัน ท้องที่อำเภอทัพทัน ช่วง กม.ที่ 17-19 ระดับน้ำสูง 55 เซนติเมตร ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 3013 ลาดยาว-อุทัยธานี-ท่าน้ำอ่อย และทางหลวงหมายเลข 3456 หนองกระดี่-คลองข่อย ท้องที่อำเภอสว่างอารมณ์ ช่วง กม.ที่ 3-4 ระดับน้ำสูง 50 เซนติเมตร ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 3456 สว่างอารมณ์ขทัพทัน-โกรกพระ แทน
จังหวัดปราจีนบุรี ทางหลวงหมายเลข 3078 ระเบาะไผ่-ประจันตคาม ท้องที่อำเภอศรีมหาโพธิ ช่วง กม.ที่ 16-17 ระดับน้ำสูง 45 เซนติเมตร ให้ใช้ทาง อบต.แทน และทางหลวงหมายเลข 3079 ปราจีนบุรี-ศรีมหาโพธิ ท้องที่อำเภอศรีมหาโพธิ ช่วง กม.ที่ 12-19 เป็นแห่งๆ ระดับสูง 35-60 เซนติเมตร ให้ใช้ทางของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) หมายเลขทางหลวงชนบท ปจ.4018 แยกทางหลวงหมายเลข 3069-บ้านโคกขวาง
จังหวัดศรีสะเกษ ทางหลวงหมายเลข 226 ห้วยทับทัน-ศรีสะเกษ ท้องที่อำเภอเมือง ช่วง กม.ที่ 268-269 ระดับน้ำสูง 30 เซนติเมตร ให้ใช้ทาง ทช.สายบ้านเล้า-หนองไผ่-บ้านหอย-บ้านคูชอดแทน