xs
xsm
sm
md
lg

“อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์” ผนึก “อิออนกรุ๊ป” ตั้งบริษัทร่วมทุนลุยตลาดค้าปลีกอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์” พลิกโฉมการลงทุนครั้งใหญ่ ผนึกกำลังกลุ่มทุนยักษ์ค้าปลีกแห่งเอเชีย “อิออน กรุ๊ป” จับมือร่วมทุน Joint Venture กับ AEON CO. (M) BHD. (อิออน คอมพานี มาเลเซีย เบอร์ฮาด) สยายปีกบุกตลาดค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ประเทศมาเลเซีย ภายใต้บริษัท AEON INDEX LIVING SDN. BHD. (อิออน อินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง) แบ่งสัดส่วนการถือครองหุ้น อินเด็กซ์ฯ 30% อิออน 70% พร้อมปั้นแบรนด์ Index Living Mall สู่การเป็น Regional Brand เต็มรูปแบบ   
 
น.ส.กฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด  เปิดเผยว่า หลังจากที่อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ได้ดำเนินกลยุทธ์ด้วยการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ มาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันมีสาขาในต่างประเทศทั้งสิ้น 8 สาขา ซึ่งครอบคลุมในตลาดตะวันออกกลาง และเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดภูมิภาคอาเซียน มีอินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ 1 สาขาที่โฮจิมินห์ ซิตี ประเทศเวียดนาม และอินเด็กซ์ เฟอร์นิเจอร์ เซ็นเตอร์  7 สาขา กระจายอยู่ในประเทศเวียดนาม พม่า ลาว และเนปาล รูปแบบการลงทุนในตลาดต่างประเทศที่ผ่านมามี 2 รูปแบบหลัก คือ การส่งออก และการขายแฟรนไชส์ให้แก่กลุ่มทุน หรือพาร์ตเนอร์ในประเทศนั้น โดยใช้ปัจจัยด้านกำลังซื้อ และความต้องการของลูกค้า ควบคู่กับปัจจัยด้านคู่แข่ง ทำเลที่ตั้ง และศักยภาพของกลุ่มทุนเพื่อนำมาวิเคราะห์การลงทุน ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้จากสาขาในต่างประเทศมีประมาณ 10% ของยอดขายรวมทั้งหมด โดยแบ่งเป็นตลาดในอาเซียน 5% และประเทศอื่นๆ 5%

จากความสำเร็จของการขยายตลาดในต่างประเทศ และทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ภายใต้กลยุทธ์ Growth Strategy และ Strategic Alliance เพื่อก้าวสู่ตลาดระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ จึงได้เกิดการลงทุนในลักษณะของการร่วมทุนหรือ Joint Venture ขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่าง Index Living Mall และ AEON CO.(M) BHD. ประเทศมาเลเซีย โดยร่วมกันจัดตั้งบริษัท อิออน อินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง (AEON INDEX LIVING SDN. BHD.) ขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้านในประเทศมาเลเซีย โดยอินเด็กซ์ฯ มีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 30 และอิออนร้อยละ 70  ด้านโครงสร้างการบริหารได้กำหนดให้มีบอร์ดบริหารร่วมกัน (Board of directors) เพื่อกำหนดนโยบาย และทิศทางของบริษัทฯ

ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจร่วมทุนกับ อิออน กรุ๊ป ในครั้งนี้ นอกจากความพร้อมด้านเงินทุน ในฐานะของกลุ่มทุนรายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังเล็งเห็นจุดแข็ง และศักยภาพของอิออน ในฐานะของผู้นำธุรกิจค้าปลีกที่มีสาขาครอบคลุมเป็นอันดับ 1 ทั่วประเทศมาเลเซีย ทำให้เข้าใจความต้องการของตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน อินเด็กซ์ฯ เองมีจุดแข็งด้านความสามารถในการผลิต และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน    

การร่วมทุนในครั้งนี้เราคาดหวังว่าจะสร้างโอกาสในการขยายส่วนแบ่งตลาด (Market Share) เพิ่มความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนต่อหน่วย (Economies of Scale) ซึ่งจะสร้างผลกำไรที่เพิ่มมากขึ้น (Profit Advantage) ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างแบรนด์ Index Living Mall ให้เป็น Regional Brand ในตลาดเฟอร์นิเจอร์รายแรกของอาเซียน เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

นอกจากปัจจัยด้านความแข็งแกร่งของอิออนแล้ว มาเลเซียยังถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง และเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ พบว่า ในปี 2555 มี GDP รวม 307.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี2555) มีจำนวนประชากรกว่า 29 ล้านคน รายได้ประชากรต่อหัว 10,502 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2552) และจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 4.4-5.2 และคาดว่าในครึ่งปีหลังของปี 2556 น่าจะยังคงขยายตัวได้อย่างดีจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ รวมถึงมีโครงการขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้าสาย 2 ของกัวลาลัมเปอร์ โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณ Klang Valley ซึ่งเป็นบริเวณที่รถไฟฟ้าจะเข้าถึง

โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจการก่อสร้างของประเทศขยายตัวได้ดี อันนำไปสู่การขยายตัวของ GDP อีกต่อหนึ่ง ส่วนแนวนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งนำพาประเทศมาเลเซียไปสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Economy) ก็เริ่มจะเห็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในด้านธุรกิจบริการ การเงิน และธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกของประเทศ อันส่งผลให้ภาคธุรกิจบริการของประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในระยะถัดไปอีกด้วย 
 
ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ระดับกลางถึงบนเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประชากรในชนบทจำนวนมากนิยมเดินทางมาหางานทำในเมืองใหญ่ โดยประชากรกลุ่มนี้นิยมนำรายได้มาใช้จ่ายในการกินอาหารนอกบ้าน การไปดูหนัง ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนตัว รวมถึงซื้อสินค้าแบรนด์เนม เพื่อแสดงสถานะทางสังคมผู้บริโภครุ่นใหม่ของมาเลเซีย จะเป็นกลุ่มผู้มีการศึกษา อายุน้อยราว 20-39 ปี มีรายได้สูง มีความกล้าในการจับจ่ายใช้สอย เพื่อความสะดวกสบาย และความบันเทิง และให้ความสำคัญกับคุณภาพและแบรนด์ของสินค้าเป็นอย่างมาก โดยมีปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้บริโภคชาวมาเลเซียส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังมีอิทธิพลด้านกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ที่มักจะเดินทางมาเที่ยวซ้ำ จึงมีผลต่อแนวโน้มบริโภคสินค้าซ้ำ ซึ่งผลักดันให้ตลาดการค้าในมาเลเซียเติบโตขึ้นด้วย 

สำหรับตลาดค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน จากข้อมูลของ Euromonitor พบว่า ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในมาเลเซียยังมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาเฟอร์นิเจอร์สำหรับบ้าน ยังต้องการแหล่งซื้อสินค้าที่สามารถไปเพียงที่เดียวก็ตอบโจทย์ความต้องการได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง พบว่า 65% ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาในมาเลเซีย คือ ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอาคารชุดใจกลางเมือง
 
ทางด้าน Ms.Nur Qamarina Chew ; Managing Director AEON CO. (M) BHD. (มิสนูร์ กัวมาริน่า ชูว์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิออน มาเลเซีย เบอร์ฮาด จำกัด กล่าวว่า อิออน กรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างมาก ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และกำลังซื้อจากจำนวนประชากร ที่รวมกันกว่า 600 ล้านคน ย่อมเป็นโอกาสสำคัญในการลงทุนทางธุรกิจเพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว โดยปัจจุบัน อิออน กรุ๊ป ได้เข้ามาลงทุนในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาคอาเซียน ครอบคลุมในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย โดยมียอดขายในภูมิภาคอาเซียนรวมกว่า 1,651 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับในประเทศมาเลเซีย อิออน กรุ๊ป ได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้มาเลเซีย เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในการขยายสาขาสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยเริ่มต้นบุกเบิกตลาดค้าปลีกมาตั้งแต่ปี 1984 โดยการสนับสนุนของรัฐบาลมาเลเซียในขณะนั้น เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมค้าปลีกในประเทศมาเลเซียให้มีความแข่งแกร่งมากยิ่งขึ้น ด้วยการจัดตั้งบริษัท AEON CO. (M) BHD. และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ BURSA ของมาเลเซียด้วยทุนจดทะเบียน 351 ล้านริงกิต ปัจจุบันได้ลงทุนในธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบต่างๆ เช่น General Merchandise Store (GMS) มีสาขา 26 แห่ง ซูเปอร์มาร์เกตแม็กซ์แวลู 4 สาขา นอกจากนี้ ยังมีร้านจำหน่ายเวชภัณฑ์เพื่อสุขภาพอิอน เวลเนส และสินค้าเฮาส์แบรนด์ภายในเครืออีกมากมาย โดยมีผลกำไรสุทธิเมื่อสิ้นสุดปี 2012 ทั้งสิ้น 212 ล้านริงกิต  

การร่วมทุนกับบริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ในครั้งนี้ ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของอิออน มาเลเซีย ภายใต้การสนับสนุนของอิออน กรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่น ในการลงทุนสู่ธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบของ Specialty Store ที่จำหน่ายเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้านเป็นครั้งแรก โดยเล็งเห็นโอกาสการลงทุนในตลาดค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ในมาเลเซีย ที่ยังคงมีอยู่สูงเนื่องจากคู่แข่งยังมีน้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทอื่นๆ รวมถึงอัตราการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในมาเลเซีย จะเป็นตัวช่วยผลักดันให้การลงทุนในครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
 
น.ส.กฤษชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของแผนงานการลงทุนขยายสาขาในประเทศมาเลเซียจะต้องดูผลจากการดำเนินงานของสาขาแรกก่อน จากนั้นคณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ดจะร่วมกันพิจารณาอีกครั้ง โดยจะศึกษาความเป็นไปได้ในทุกมิติ ทั้งทางด้านประชากร ปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ศักยภาพทางการตลาด และคู่แข่ง เป็นต้น โดยคาดว่าในแต่ละสาขาจะมีพื้นที่ประมาณ 6,000-10,000 ตารางเมตร


กำลังโหลดความคิดเห็น