xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าท่าล้อมคอกอุบัติเหตุ เข้ม 5 มาตรการเดินเรืออ่าวพัทยา-เกาะล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.)
“กรมเจ้าท่า” เข้ม 5 มาตรการความปลอดภัยยกระดับมาตรฐานจราจรทางน้ำในอ่าวพัทยา-เกาะล้าน หวังลดอุบัติเหตุ ทั้งจัดโซนนิ่ง ติด CCTV-GPS เฝ้าระวังและบูรณาการความร่วมมือรัฐ-เอกชน พร้อมจับมือ ก.คมนาคมญี่ปุ่นพัฒนาอุตฯ ต่อเรือขนน้ำมันไทยลดความเสี่ยงการรั่วไหล

นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า จากที่ประชุมเกี่ยวกับการบูรณาการแผนรักษาความปลอดภัยและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทางน้ำ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน ซึ่งได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าพิจารณาประชุมเกี่ยวกับการบูรณาการแผนรักษาความปลอดภัยและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทางน้ำ เช่น การตรวจใบอนุญาตใช้เรือ การตรวจการบรรทุกผู้โดยสาร การตรวจเรื่องการใช้ความเร็วของเรือ การตรวจเอกสารประกาศนียบัตรทำการในเรือ โดยกรมเจ้าท่าได้ประกาศคำสั่งมอบหมายอำนาจ “เจ้าท่า” ปรากฏตามคำสั่งกรมเจ้าท่า ที่ 594/2556 ไปแล้วนั้น

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าได้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณาถึงมาตรการลดความเสี่ยง และมาตรการบริหารจัดการความปลอดภัยเดิม รวมทั้งรูปแบบการจราจรทางน้ำของเรือในอ่าวพัทยา-เกาะล้าน ปริมาณจราจรทางน้ำ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และได้นำมาประมวลเพื่อปรับปรุงมาตรการเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางน้ำ ภายใต้แผนความปลอดภัยการคมนาคมทางน้ำ บริเวณอ่าวพัทยา-เกาะล้าน ซึ่งมี 5 มาตรการ คือ

1. จัดระเบียบพื้นที่ทางน้ำ (Zoning) โดยกำหนดขอบเขตการใช้พื้นที่ทางน้ำให้ชัดเจน เช่น วางทุ่นเพื่อกำหนดเขตว่ายน้ำ หรือเขตเล่นกีฬาทางน้ำเป็นการเฉพาะ วางทุ่นเครื่องหมายจำกัดความเร็วเรือ (Speed limit) ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและลดการเกิดอุบัติเหตุเรือโดนกันได้ 2. กำกับดูแลและควบคุมการจราจรทางน้ำ (Monitoring) โดยมีศูนย์ควบคุมการจราจรทางน้ำ (Vessel Traffic Control Center) ให้ครอบคลุมพื้นที่พัทยาและเกาะล้าน และติดตั้ง CCTV เฝ้าระวังเพิ่มเติมและสนับสนุนติดตั้ง GPS เรือโดยสารสาธารณะ ให้สามารถใช้ตรวจสอบตำแหน่งเรือได้เมื่อเกิดเหตุ และสามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที

3. บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน (Integrity)เพื่อสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัย 4. สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย (Awareness) จัดฝึกอบรมผู้เกี่ยวข้องในการเดินเรือทั้งหมดเพื่อให้ตระหนักถึงความปลอดภัย 5. ปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับการพัฒนา (legal reform) เพื่อยกระดับมาตรฐานเรือ อุปกรณ์ประจำเรือ รวมถึงการเพิ่มวงเงินความคุ้มครองในการประกันภัยสำหรับเรือโดยสารสาธารณะ

นอกจากนี้ กรมเจ้าท่ายังได้ทำความตกลงร่วมกับกระทรวงคมนาคมแห่งประเทศญี่ปุ่นเพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมให้มีการต่อเรือสองชั้น (double hull) โดยมีการนำเทคโนโลยีการต่อเรือของประเทศญี่ปุ่น ทั้งการออกแบบการต่อเรือ การเดินเรือในน่านน้ำภายในประเทศ มาเป็นต้นแบบในการต่อเรือ และการเดินเรือในประเทศไทย ซึ่งเป็นการยกระดับการเดินเรือในประเทศไทยให้มีความทันสมัย และยังเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมการต่อเรือในประเทศไทยให้มีศักยภาพ เนื่องจากตรวจพบเรือบรรทุกน้ำมันเดินเรือน่านน้ำในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีอายุมาก มีเปลือกเรือชั้นเดียว (single hull) หากเกิดอุบัติเหตุในระหว่างเดินเรืออาจทำให้น้ำมันที่บรรทุกรั่วไหลลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมหาศาล ส่งผลเสียหายต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศได้
กำลังโหลดความคิดเห็น