xs
xsm
sm
md
lg

ล้มสรรหาเอ็มดี ทอท. บอร์ดสั่งเปิดใหม่รอบ 3 เหตุไม่มีผู้ผ่านเกณฑ์แสดงวิสัยทัศน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.
บอร์ด ทอท.ล้มสรรหาเอ็มดี เริ่มต้นใหม่ เหตุผู้สมัครสอบตกคะแนนด้านวิสัยทัศน์ทุกราย “ศิธา” สั่งเร่งเปิดรับสมัครใหม่ ขีดเส้นได้ตัวเอ็มดีใหม่ใน 2 เดือน แจงไม่ตัดสิทธิ์ผู้สมัครเดิมที่ผ่านคุณสมบัติ สมัครรอบ 3 ได้ พร้อมไฟเขียวปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพิ่มรองเอ็มดีอีก 2 สายงาน อ้างผู้โดยสารและเที่ยวบินเติบโตสูงและเตรียมรับ AEC ขณะที่ “ยูนิค” ซิวสัญญา 155.03 ล้านบาทสร้างอาคารผู้โดยสารชั่วคราวภูเก็ต  

น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยภายหลังการประชุมวานนี้ (28 ส.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติให้เปิดการสรรหาผู้อำนวยการใหญ่ (เอ็มดี) ทอท.ใหม่ หลังจากคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มี นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ เป็นประธาน รายงานบอร์ดว่า ผู้ผ่านคุณสมบัติทั้ง 4 รายไม่ผ่านเกณฑ์หลังแสดงวิสัยทัศน์ โดยได้รับคะแนนไม่ถึง 80%

โดยให้เร่งกระบวนการสรรหาใหม่แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนหรือได้ตัวเอ็มดี ทอท.คนใหม่ภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งจะครบ 1 ปี หลังจากที่ว่าที่ ร.ท.อนิรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร เอ็มดี ทอท.คนเก่าพ้นวาระ ซึ่งคาดว่าจะประกาศรับสมัครได้ภายในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ ให้ระยะเวลายื่นใบสมัคร 21 วัน โดยใช้เงื่อนไขและเกณฑ์คุณสมบัติเดิมทั้งหมด  

ทั้งนี้ ผู้สมัครทั้ง 4 คนที่ได้คะแนนหลังแสดงวิสัยทัศน์ไม่ถึง 80% นั้นสามารถสมัครได้อีก ไม่มีการตัดสิทธิ์แต่อย่างใดหากคุณสมบัติไม่ขัดข้อกฎหมายที่กำหนด เนื่องจากถือว่าเป็นผู้ที่ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติในการสมัครมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่อาจจะยังแสดงวิสัยทัศน์ได้ไม่ดีพอจึงได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ โดย ทอท.ได้ประกาศรับสมัครเอ็มดี ทอท.ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17-30 มกราคม 2556 ปรากฏว่ามีผู้ยื่นใบสมัครเพียง 1 ราย คือ นายพฤทธิ์ บุปผาคำ อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงขยายเวลารับสมัครเพิ่มถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีผู้สมัคร 5 ราย ประกอบด้วย พล.อ.ท.อานนท์ จารยะพันธุ์ รองเสนาธิการทหารอากาศ, นายกฤต ธนิศราพงศ์ ผู้จัดการ บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, นางชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย จำกัด, ดร.ธีรัช สุขสะอาด ผู้อำนวยการองค์การตลาด และนายสมิต สว่างจิต ปาละนิติเสน โดยต่อมา พล.อ.ท.อานนท์ จารยะพันธุ์ ขอถอนตัว

น.ต.ศิธากล่าวว่า รับสมัครครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว เชื่อว่าน่าจะมีผู้สมัครมากกว่า 1 ราย แต่หากครบกำหนดแล้วมีผู้สมัครเพียง 1 รายอาจจะต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะขยายเวลารับสมัครอีกหรือไม่ เพราะหากผู้สมัคร 1 รายมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์เป็นไปได้ที่อาจจะเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์เพื่อให้การสรรหาแล้วเสร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนด 

รายงานข่าวแจ้งว่า กระแสข่าวก่อนหน้านี้ ทั้งนายพฤกษ์ และนางชนัญญารักษ์ อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับคัดเลือกเพราะมีแรงสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง แต่ความเห็นยังเป็น 2 ฝ่าย จึงยังไม่สามารถสรุปและทำให้ต้องขยายเวลาสรรหาออกไปก่อน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบิน และผู้โดยสารของทั้ง 6 ท่าอากาศยานที่เพิ่มขึ้นมาก โดยคาดว่าปี 2556 จะมีผู้โดยสารรวมเกือบ 80 ล้านคน ในขณะที่โครงสร้างองค์กรยังเป็นโครงสร้างเดิมตั้งแต่ปี 2550 โดยจะมีการขยายอัตราระดับรองผู้อำนวยการท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารเกิน 10 ล้านคนต่อปี คือผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง จากระดับ 10 เป็นระดับ 11 เนื่องจากหลังปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 2 เสร็จ ผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 17-18 ล้านคนต่อปี และผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ตเป็นระดับ 11 ซึ่งสิ้นปี 2556 ผู้โดยสารจะเกิน 10 ล้านคนต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 

“การปรับโครงสร้างจะไม่มีผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของ ทอท.มากนัก เพราะนโยบายบอร์ดจะเน้นการเกลี่ยคนให้เหมาะสมกับงาน หากไม่เพียงพอจำเป็นต้องเพิ่มอัตรากำลังบ้างแต่ไม่มาก นอกจากนี้จะปรับโครงสร้างภายในของทุกท่าอากาศยานให้เหมือนกันเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลและการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง” น.ต.ศิธากล่าว 

นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ รองประธานบอร์ด และรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า ปรับปรุงโครงสร้างและภารกิจให้รองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น โดยจะมีทั้งการเพิ่มส่วนงานที่ยังไม่มี เช่น การเข้าสู่ AEC, การแข่งขัน, การกระจายอำนาจ โดยจะเพิ่มระดับรองผู้อำนวยการใหญ่ (ระดับ 11) อีก 2 สายงาน เดิมมีแล้ว 5 สายงาน รวมเป็น 7 คน คือ ด้านยุทธศาสตร์เพื่อนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงและเพื่อผลักดันองค์กร มีการชี้วัดและประเมินผล, ด้านปฏิบัติการมาตรฐานท่าอากาศยานและการบิน เน้นงานมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเดิมอยู่ในความรับผิดชอบของระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ (ระดับ 10) ซึ่งปัจจุบันต้องยกระดับขึ้นตามมาตรฐานสากลเนื่องจากมีปัญหาที่กระทบต่อความปลอดภัยมากขึ้น

นอกจากนี้จะเพิ่มภารกิจของรองผู้อำนวยการใหญ่ด้านอำนายการเพื่อรองรับการตั้งสถาบันวิทยาการท่าอากาศยาน (R&D) เพื่อพัฒนาคนในองค์กรเพิ่มขึ้น โดยระดับรองผู้อำนวยการใหญ่จะพิจารณาจากคนในหากไม่มีผู้เหมาะสมจะเปิดสรรหาบุคคลภายนอกต่อไป และตั้งฝ่ายบริหารทรัพย์สินภายใต้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพิ่มเพื่อบริหารงานด้าน Non Aero ให้เป็นระบบมากขึ้น และเพิ่มผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ (ระดับ 10) ด้านกฎหมายซึ่งปัจจุบันเป็นระดับ 9 เนื่องจากเห็นว่า ทอท.มีสัญญาทางธุรกิจกับพันธมิตรมากขึ้นทำให้มีประเด็นข้อกฎหมายต้องพิจารณามากขึ้นด้วย  

นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ ทอท.ว่าจ้าง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างอาคารตรวจบัตรโดยสารภายนอกอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานภูเก็ต โดยวิธีพิเศษ ตามข้อกำหนด ทอท.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2553 ข้อ 21.1.1(5) เป็นเงิน 144,897,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เป็นเงิน 10,142,790 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 155,039,790 บาท ซึ่งปัจจุบัน ทอท.อยู่ระหว่างดำเนินการตามโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (ปีงบประมาณ 2553-2557) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารได้ 12.5 ล้านคนต่อปี 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพื้นที่ขาออกระหว่างประเทศของอาคารผู้โดยสารโดยเฉพาะบริเวณห้องโถงตรวจบัตรโดยสาร หรือ Check-in คับคั่ง เนื่องจากปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นผู้โดยสารบางส่วนที่เป็นผู้โดยสารเช่าเหมาลำจะเดินทางมา Check-in ในช่วงเวลาเดียวกัน ตลอดจนพักรอในอาคารผู้โดยสารก่อนการเดินทางหลายชั่วโมง ดังนั้น ทอท.จึงมีโครงการก่อสร้างอาคารตรวจบัตรโดยสาร ภายนอกอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานภูเก็ต (Off Terminal Check-in) ในระหว่างที่โครงการพัฒนายังไม่แล้วเสร็จเพื่อลดปัญหาความคับคั่งและทันต่อการรองรับผู้โดยสารที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะถึงนี้

โดยจะมีการก่อสร้างอาคารตรวจบัตรโดยสารในพื้นที่บริเวณด้านหลังสำนักงานของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ประมาณ 4 ไร่เศษ ซึ่ง ทอท.ได้เจรจาขอเช่าใช้พื้นที่ดังกล่าวแล้ว อาคารตรวจบัตรโดยสารมีพื้นที่ 1,320 ตารางเมตรให้บริการผู้โดยสาร Check-in ได้ 1,000 คนต่อชั่วโมง ประกอบด้วยพื้นที่ตรวจบัตรโดยสาร ซึ่งมีเคาน์เตอร์เช็กอิน 10 ชุด พื้นที่เก็บกระเป๋าสัมภาระ พื้นที่พักคอย พื้นที่สำนักงาน รวมไปถึงพื้นที่พักผ่อนกึ่งกลางแจ้ง และพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ ฯลฯ ซึ่ง ทอท.อยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร และสายการบิน เป็นต้น เกี่ยวกับการดำเนินการในขั้นตอนพิธีการต่างๆ และการอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ทั้งนี้ การก่อสร้างอาคารตรวจบัตรโดยสารกำหนดแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2556
กำลังโหลดความคิดเห็น