ยื้อสรรหาเอ็มดี ทอท. รอสรุปคะแนนชงบอร์ดในเดือน ส.ค. วงในเผย “พฤทธิ์” และเอ็มดีดีเอสแอลคะแนนสูสี ด้าน “ศิธา” เผยบอร์ดไฟเขียวประมูลวิธีพิเศษสร้างอาคารผู้โดยสารสำรองที่ภูเก็ต 145 ล้านลดแออัด พร้อมสั่งศึกษาผุดรันเวย์ที่ 2 ด้วย ส่วนรันเวย์สำรองสุวรรณภูมิส่อพับแผน สผ.ดับฝัน ยันความยาวเกิน 1,100 ม.ต้องศึกษา EIA บอร์ดสั่ง ทอท.ทำข้อมูลหารือ สผ.อีกรอบ ยันใช้สำรองเฉพาะกรณีฉุกเฉิน
น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังการประชุมวานนี้ (31 ก.ค.) ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณาผลการสรรหาผู้อำนวยการใหญ่ (เอ็มดี) ทอท. เนื่องจากทางคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มี นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ เป็นประธาน แจ้งว่ายังไม่ได้สรุปผลคะแนน โดยจะเสนอผลต่อที่ประชุมบอร์ดครั้งต่อไปวันที่ 28 สิงหาคมเพื่อให้สรุปก่อนครบ 1 ปี หลังจากที่บอร์ด ทอท.ได้มีมติเลิกจ้าง ว่าที่ ร.ท.อนิรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555
รายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นนายพฤทธิ์ บุปผาคำ อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนางชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย จำกัด มีคะแนนสูสีกันหลังแสดงวิสัยทัศน์ ส่วนนายธีรัช สุขสะอาด ผู้อำนวยการองค์การตลาด (อต.) ได้คะแนนเป็นลำดับ 3 ทั้งนี้ กรณีที่มีกระแสข่าวว่านายพฤทธิ์น่าจะเป็นผู้ได้รับคัดเลือกครั้งนี้นั้นยังมีประเด็นเรื่องที่เคยเป็นผู้บริหารการบินไทยซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ ทอท.และออกจากการบินไทยยังไม่เกิน 3 ปีนับจากเดือนตุลาคม 2553 ซึ่งต้องรอดูผลคะแนนที่ออกมาก่อน ส่วนการเปิดสรรหาใหม่ยังเป็นไปได้เพราะยังพอมีเวลาเหลืออีก 4 เดือนจึงจะครบ 1 ปี
น.ต.ศิธากล่าวว่า บอร์ดได้เห็นชอบการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารชั่วคราวท่าอากาศยานภูเก็ต วงเงิน 145 ล้านบาท โดยให้ใช้วิธีพิเศษในการประกวดราคาเนื่องจากเป็นความจำเป็นเร่งด่วน และให้นำผลประมูลเสนอบอร์ดอนุมัติในเดือนสิงหาคม โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 120 วัน (4 เดือน) มีพื้นที่ใช้สอย 1,400 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 3 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะแยกสำหรับเช็กอินและลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เพื่อลดความแออัดของอาคารผู้โดยสารหลักลง โดยสามารถเช็กอินผู้โดยสารได้ประมาณ 1,000 คนต่อชั่วโมง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 9.5 ล้านบาท และคาดว่าปี 56 นี้จะเพิ่มเป็น 10.5 ล้านคนต่อปี ขณะที่ตัวอาคารมีขีดความสามารถรองรับได้เพียง 6.5 ล้านคนต่อปี
พร้อมกันนี้ ได้มีมติให้ ทอท.ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ของภูเก็ตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขึ้น-ลงของเครื่องบินจาก 12 ลำเป็น 30 ลำต่อชั่วโมง ซึ่งรันเวย์ที่ 2 จะต้องมีระยะห่างจากรันเวย์ที่ 1 มากกว่า 182.5 เมตร ตามมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อให้เครื่องบินขนาดใหญ่ ตั้งแต่โบอิ้ง 737, 747 ทำการขึ้นลงพร้อมกันได้ทั้ง 2 รันเวย์ โดยเบื้องต้นต้องประเมินพื้นที่ในการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะไม่ต้องเวนคืนเพิ่ม
ส่วนการก่อสร้างรันเวย์สำรองของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ความยาว 2,900 เมตรนั้น น.ต.ศิธากล่าวว่า ทอท.รายงานผลการหารือกับทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เบื้องต้น สผ.ระบุว่าการก่อสร้างรันเวย์ที่มีความยาวตั้งแต่ 1,100 -3,000 เมตรจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หากเกิน 3,000 เมตรต้องศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (EHIA) เพิ่มด้วย ซึ่งบอร์ดเห็นว่า ทอท.หารือในประเด็นก่อสร้างเป็นรันเวย์ที่ 3 ซึ่งรองรับการขึ้นลงเครื่องบินได้ 12 ลำต่อชั่วโมง ไม่ตรงกับที่บอร์ดต้องการให้ทำเป็นรันเวย์สำรอง ซึ่งจะมีการใช้งานต่อเมื่อรันเวย์ที่ 1 หรือ 2 เกิดปัญหาเท่านั้น ไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถการขึ้นลงเครื่องบินแต่อย่างใด โดย 2 รันเวย์หลักยังรองรับได้สูงสุด 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมงแม้จะมีรันเวย์สำรอง จึงมอบหมายให้ทำข้อมูลรันเวย์สำรองและหารือกับ สผ.อีกครั้ง และรายงานบอร์ดในเดือนสิงหาคม