ครม.ไฟเขียวฟื้นการเจรจา FTA ไทย-EFTA หลังชะงักมาตั้งแต่ปี 49 เหตุต้องชิงความได้เปรียบเหนืออาเซียนอื่น และยังเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการค้า การลงทุนของไทย เตรียมเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งเป็นการฟื้นการเจรจาขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ไทยเคยเริ่มการเจรจาเมื่อปี 2548-49 และหลังจากนั้นได้หยุดชะงักลง
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
ทั้งนี้ การฟื้นการเจรจา FTA ไทย-EFTA เพราะสมาชิก EFTA ซึ่งประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ มีความสำคัญต่อการค้าการลงทุนของไทยขึ้นเป็นลำดับ โดยในด้านการค้า EFTA เป็นคู่ค้าลำดับที่ 10 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 13,455 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) ประมาณร้อยละ 37 ส่วนการลงทุนโดยตรงของประเทศสมาชิก EFTA ในไทย มากเป็นลำดับที่ 6 รองจากญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ด้วยมูลค่าลงทุนกว่า 2,936.61 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ปัจจุบันสมาชิกอาเซียนต่างใช้กลยุทธ์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยสิงคโปร์มี FTA กับ EFTA แล้ว และอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม อยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับ EFTA ไทยจึงต้องเร่งรื้อฟื้นการเจรจา FTA กับ EFTA เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการของไทยในตลาด EFTA รวงทั้งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของ EFTA ในอาเซียน” นายนิวัฒน์ธำรงกล่าว
ทั้งนี้ หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาแล้ว การเจรจา FTA ไทย-EFTA จะนำไปสู่ FTA ฉบับที่สองที่เชื่อมโยงการค้าการลงทุนของไทยกับประเทศในยุโรปที่ได้ชื่อว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งทางด้านเงินทุน เทคโนโลยี และมีมาตรฐานของผู้บริโภคในระดับสูงของโลก
ปัจจุบันไทยมี FTA แล้ว 12 ฉบับ ได้แก่ อาเซียน อาเซียน-จีน ไทย-อินเดีย (เปิดเสรีนำร่อง 82 รายการสินค้า) ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ ไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อาเซียน-อินเดีย ไทย-เปรู (เปิดเสรีสินค้านำร่อง (EHS) 70% ของสินค้า) และไทย-ชิลี และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 4 ฉบับ ได้แก่ ไทย-อินเดีย ไทย-เปรู RCEP ไทย-สหภาพยุโรป (EU)