xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-เทศแห่กว้านซื้อที่อีสานเหนือตอนบนผุดนิคมฯ ที่ขอนแก่น-อุดรฯ รับ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บีโอไอ” เผยพื้นที่ภาคอีสานตอนบนเนื้อหอมนักลงทุนต่างชาติยังแห่กว้านซื้อที่เพื่อตั้งนิคมฯและตั้งโรงงานรองรับ AEC ล่าสุดจีนกว้านซื้อที่ขอนแก่น 4.1 พันไร่เล็งตั้งนิคมฯ สีเขียว ขณะที่อุดรธานีจ่อผุดเขตอุตฯ 2 พันไร่ ขณะที่ร้านค้าวัสดุก่อสร้างผุดรับก่อสร้างบูมเพียบ


น.ส.รัตนวิมล นารี ศุกรีเขตร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติสนใจเข้ามาดูพื้นที่สำหรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและการตั้งโรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ที่การค้าและการลงทุนจะขยายตัวสูง

ล่าสุดนักลงทุนจีนได้เข้ามาทยอยซื้อพื้นที่ใน อ.ท่าพระ จ.ขอนแก่นแล้ว 4,100 ไร่ เพื่อจัดตั้งนิคมฯ สีเขียว โดยมีการตั้งบริษัทร่วมทุนกับไทย ซึ่งพื้นที่เดิมส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลัง โดยกำลังรอการประกาศผังเมืองรวมของจังหวัดอยู่คาดว่าจะใช้เวลาการพัฒนา 1-2 ปี ขณะเดียวกันล่าสุด บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี ยังได้รับการส่งเสริมกิจการเขตอุตสาหกรรมพื้นที่ 2,000 ไร่ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,250 ล้านบาท ตั้งโครงการที่อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

น.ส.รัตวิมลกล่าวว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนที่มีการขยายตัวค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ล่าสุดยังส่งผลให้ร้านค้าก่อสร้าง และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ มีการขยายตัวตามค่อนข้างสูง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการป้อนตลาดภายในประเทศเท่านั้น พบว่ายังมีแรงซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านที่ติดชายแดนข้ามมาซื้อจำนวนมากด้วย

สำหรับทิศทางการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเดือน ก.ค. 56 มีทั้งสิ้น 6 โครงการเงินลงทุน 387 ล้านบาทโดยทั้งโครงการและเงินลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 20% และ 13.56 % ตามลำดับ และการลงทุน 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.56) มีทั้งสิ้น 36 กิจการ เงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามกิจการที่ได้รับความสนใจส่วนใหญ่เป็นกิจการเกษตรและผลิตผลจากเกษตร

“กิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ ก.ค.ล่าสุด ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางจากธรรมชาติ ของบ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ผลิตยางแท่งและยางผสมมูลค่าลงทุน 614 ล้านบาท จ.กาฬสินธุ์ และของนายเกียรติ กิตติกุลเสรีคำ มีกำลังการผลิตยางแท่งและยางผสมมูลค่า 1,715 ล้านบาท จ.อุดรธานี กิจการขยายการผลิตชิ้นส่วนของ บ.พานาโซนิค แมนูแฟกเจอริ่ง (ประเทศไทย) ลงทุน 57.8 ล้านบาท จ.ขอนแก่น เป็นต้น” น.ส.รัตวิมลกล่าว

สำหรับปัญหาแรงงานขณะนี้ยอมรับว่าได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการในพื้นที่ว่ายังคงมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งระบบมีฝีมือและไร้ฝีมือ แม้ว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเท่ากัน 300 บาทต่อวันแล้วก็ยังไม่ได้จูงใจให้เกิดการย้ายแรงงานกลับภูมิลำเนาเท่าที่ควรจะเป็นนัก เนื่องจากพบว่าบางจังหวัดเอง เช่น จ.ขอนแก่น ก็ไม่ได้มีค่าครองชีพที่ต่ำเมื่อเทียบกับอยู่ในพื้นที่แถบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะเดียวกัน ในมาบตาพุดมีโรงงานค่อนข้างมากกลับมีโอกาสเคลื่อนย้ายแรงงานได้ง่ายกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น