xs
xsm
sm
md
lg

สื่อโฆษณาดิจิตอลวาดฝันเพิ่มส่วนแบ่ง 35% (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัลไทย (DAAT)
ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกสมาคมโฆษณาดิจิตอลไทย คาดมูลค่าตลาดสื่อโฆษณาดิจิตอลเพิ่มเป็น 3.7 พันล้านบาทในปี 56 คิดเป็นสัดส่วน 3% จากมูลค่าเงินโฆษณาสื่อทุกประเภท เผยมีโอกาสเทียบเคียงสวีเดนที่มีขนาดตลาดเท่ากัน หลังตลาดโต 30-50% ติดต่อกันหลายปี แนะเจ้าของแบรนด์สินค้าปรับตัวรับพฤติกรรมผู้บริโภคจากกระแสการตื่นตัวเรื่องอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและ 3G ส่งผลให้โฆษณาผ่าน “วิดีโอ มาร์เกตติ้ง” มาแรง ทำให้การใช้เงินซื้อโฆษณาทั่วไปเปลี่ยนแปลง

นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิตอลไทย (DAAT) เปิดเผยว่า มูลค่าเงินโฆษณาบนสื่อดิจิตอลไทยในปี 2555 มีประมาณ 2,783 ล้านบาท โดยคาดว่าในปี 2556 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.7 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% ของมูลค่าเงินโฆษณาบนสื่อทุกประเภทประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่ายังคงมีโอกาสขยายตัวขึ้นอีกมากโดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 30-50% ติดต่อกันมาประมาณ 7-8 ปี

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มูลค่าเงินโฆษณาบนสื่อดิจิตอลมีจำนวนเพิ่มขึ้น คือ จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือว่ายังมีโอกาสอีกมาก เนื่องจากล่าสุดมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ มูลค่าเงินโฆษณาบนสื่อทุกประเภทของประเทศสวีเดนกับประเทศไทยมีจำนวนใกล้เคียงกัน แต่เมื่อคิดสัดส่วนมูลค่าเงินโฆษณาบนสื่อดิจิตอลแล้วกลับพบว่า ประเทศสวีเดนมีสัดส่วนสูงกว่าประเทศไทยถึง 10 เท่าคือประมาณ 35% จึงแสดงให้เห็นว่าในอนาคตมูลค่าเงินโฆษณาบนสื่อดิจิตอลไทยย่อมมีโอกาสขยายตัวสูงถึง 35% เช่นกัน

“แม้ว่าประเทศไทยจะมีจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมากและติดอันดับโลก แต่เมื่อคิดจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมดแล้วยังถือว่ามีจำนวนที่น้อยมาก แม้แต่ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันก็ยังคงมีจำนวนน้อยกว่าประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศอินโดนีเซียซึ่งสูงกว่าประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และบรูไนเท่านั้น”

นายศิวัตรกล่าวด้วยว่า พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สินค้าต่างๆ ต้องมีการปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าโฆษณาหลักยังคงเป็นฟรีทีวี สิ่งพิมพ์ และอื่นๆ แต่การใช้โฆษณาที่เริ่มเป็นที่นิยมและได้ผลอย่างเห็นได้ชัดคือการใช้วิดีโอ มาร์เกตติ้ง ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงมากในปัจจุบัน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิดีโอ มาร์เกตติ้งได้รับความนิยมมาก เนื่องจากกระแสการตื่นตัวเรื่องอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและเทคโนโลยี 3G ทำให้พฤติกรรมการรับสื่อของคนไทยหันมาใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะคอนเทนท์ยอดนิยมประเภทละครและภาพยนตร์ จึงส่งผลให้มีการทำมิวสิกวิดีโอ หนังสั้น หรือสกู๊ปต่างๆ ผ่านยูทิวบ์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน

“ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการทำแบรนดิ้งคอนเทนต์ผสมกันไปทั้งในรูปแบบของละคร กีฬา หรือรายการอื่นๆ เพื่อเผยแพร่ผ่านยูทิวบ์ ขณะเดียวกัน บางครั้งผู้ชมก็หันมาลองผลิตเองในลักษณะของการรีวิวสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องสำอาง รถยนต์ ร้านอาหาร โรงแรม และอื่นๆ”

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงทำให้การใช้เงินซื้อสื่อโฆษณาปกติ คือ Paid Media เปลี่ยนเป็นการสร้างสื่อโฆษณาเป็นของตนเอง หรือ Own Media เพื่อให้ลูกค้า หรือประชาชนทั่วไปแชร์ข้อมูลข่าวสาร หรือส่งต่อในลักษณะของ Earn Media จึงทำให้ในช่วงหลังๆ เรามักเห็นความพยายามในการทำโฆษณาในลักษณะนี้มากขึ้น ซึ่งหมายความว่าเพียงทำคอนเทนต์ดีๆ ขึ้นมาเพียงชิ้นเดียวแล้วพยายามทำให้คนบอกต่อและส่งต่อโฆษณาชิ้นนี้ออกไปจะสามารถได้ผลมากกว่าการใช้เงินซื้อสื่อปรกติทั่วไป

“โฆษณาในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงคลิปวิดีโอในลักษณะไวรัลมาร์เกตติ้งเท่านั้น แต่ที่เห็นมากที่สุดคือการแชร์ผ่านเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียประเภทต่างๆ โดยเฉพาะการใช้ดาราเป็นผู้โปรโมตสินค้าผ่านอินสตาแกรมซึ่งถือว่าได้ผลมาก เนื่องจากดาราบางคนมีผู้ติดตามทางอินสตาแกรมมากนับล้านคน จึงทำให้ดารามีสถานะเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่าสื่อทุกประเภท”

ด้วยเหตุนี้เจ้าของสินค้าหลายๆ ประเภทจึงมีการเลือกใช้สื่อแบบจำเพาะเจาะจงด้วยการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญมากขึ้นแทนที่จะซื้อพื้นที่สื่อโฆษณาทั่วไป โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านทางเฟซบุ๊กซึ่งถือเป็นช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงความต้องการมากที่สุด เพราะสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ทั้ง เพศ อายุ การศึกษา และความสนใจด้านต่างๆ ขณะเดียวกันการโฆษณาผ่านแบนเนอร์ตามเว็บไซต์ต่างๆ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นการเลือกเว็บไซต์ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นด้วย




"ศิวัตร เชาวรียวงษ์" นายกสมาคมโฆษณาดิจิตอลไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับตัวของแบรนด์สินค้าไทย ภายในงานสัมมนาเรื่อง "แบรนด์ไทยในปี 2014 ตั้งรับหรือต้องรุก ?" ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เนื่องในโอกาสแนะนำหลักสูตร BU.I.L.D.(Bangkok University Integrated Learning & Development) เพื่อเป็นทางลัดสร้างนักการตลาดและนักสื่อสารการตลาดมืออาชีพป้อนวงการในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น