xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกวูบลดเป้าโต 9% จี้รัฐคลอด 9 มาตรการช่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งไทยวูบหนัก ครึ่งปีแรกโตต่ำเป้าแค่ 4% จากเป้า 12% เหตุมูลค่าการบริโภคหายไปจากตลาดกว่า 1.2 แสนล้านบาท ชี้ครึ่งปีหลังทรงๆ ส่งภาพรวมทั้ปีปรับลดเป้าโตเหลือแค่ 9% ต่ำกว่าปีที่แล้วที่เติบโตรวม 12% จี้รัฐบาลออกมาตรการเร่งด่วน 9 ข้อปลุกความหวัง

นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ประเมินว่าในช่วงครึ่งปีหลังภาพรวมค้าปลีก-ค้าส่งของไทยยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันอีกหลายอย่าง หลังจากที่ครึ่งปีแรกภาพรวมค้าปลีก-ค้าส่งไทยไม่เติบโตตามที่คาดการณ์เอาไว้ โดยเบื้องต้นทางสมาคมฯ คาดการณ์ไว้ว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งปี 2556 จะเติบโตไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา หรือประมาณ 10-12% จากที่มีความเชื่อมั่นว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า 5-6 แสนล้านบาท นอกเหนือจากงบประมาณประจำปี น่าจะทำให้ GDP เติบโตสูงตามไปด้วย

แต่การอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าระบบเศรษฐกิจกลับไม่ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจตามที่เคยคาดหมายไว้ มีผลต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งในครึ่งปีแรกต่ำกว่าที่คาดไว้ 3-4% จากที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 12% มาอยู่ที่ 9% หรือมูลค่าการบริโภคหายไปกว่า 1.2 แสนล้าน หรือประมาณ 1-2% ของ GDP ในสัดส่วนของการบริโภคภายใน

ขณะที่หนี้ครัวเรือนของผู้บริโภคก็เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาคครัวเรือนเริ่มตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน อีกทั้งปริมาณนักท่องเที่ยวคนไทยเองที่เดินทางออกนอกประเทศไปเที่ยวต่างประเทศของครึ่งปีแรกที่เพิ่มถึง 17.7% ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในครึ่งปีหลังนื้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 12 ล้านคนในครึ่งปีแรก ซึ่งสูงขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับเมื่อปีที่ผ่านมาก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องของงบประมาณที่จะนำมากระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกก็มีผลเช่นกัน จากงบประมาณปี 2557 จำนวนกว่า 2 ล้านล้านบาท คาดว่าตุลาคมจะใช้ได้ส่วนหนึ่ง และจะมีเงินไหลเข้ามาในระบบมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

สำหรับภาพรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งทั้งปี 2556 นี้ สมาคมฯ ประเมินว่าทั้งระบบน่าจะเติบโตแค่ 9% ต่ำกว่าปีที่แล้วที่เติบโต 12% โดยแยกเป็นกลุ่มซูเปอร์เซ็นเตอร์เติบโต 7% ต่ำกว่าปีที่แล้วที่เติบโต 10% กลุ่มคอนวีเนียนสโตร์เติบโต 12% ต่ำกว่าปีที่แล้วที่เติบโต 18% กลุ่มดีพาร์ตเมนต์สโตร์เติบโต 7.5% ต่ำกว่าปีที่แล้วที่เติบโต 12% กลุ่มสเปเชียลตี้สโตร์เติบโต 11.5% ต่ำกว่าปีที่แล้วที่เติบโต 18% และกลุ่มซูเปอร์มาร์เกตเติบโต 8% ต่ำกว่าปีที่แล้วที่เติบโต 10%
บุษบา จิราธิวัฒน์ (ซ้าย) ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย
นางสาวบุษบา กล่าวต่ออีกว่า ปัจจัยที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่งในช่วงครึ่งปีหลังมีประเด็นหลักๆ สรุปได้ดังนี้

1.สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน ว่า การบริโภคของภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ที่มีการเติบโต 3.9% ซึ่งต่ำจากเป้าหมายที่มีการประมาณการว่าจะเติบโต 6% และการบริโภคภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง โดยในเดือนเมษายนมีการเติบโต 1.8% และหดตัว 0.2% ในเดือนพฤษภาคม

2.ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจาก 4.3-5.3% เหลือ 3.8-4.3% โดยประเมินว่าธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจค้าปลีก รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์

3.สมาคมฯ เห็นว่ารัฐบาลควรมีมาตรการเสริมออกมาดูแลเศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากมาตรการทางการเงิน (อัตราดอกเบี้ย) และมาตรการทางการคลัง (การลดหย่อนภาษี) มากระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ซึ่งเชื่อว่าจะแผ่วลงในทุกภาคส่วน ยกเว้นการท่องเที่ยว และการค้าชายแดน ที่ยังคงดีอยู่

4.ในครึ่งปีหลังสมาคมฯ เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเห็นการขยายตัวของสินเชื่อเริ่มช้าลง ซึ่งมีผลจากหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น และจะเป็นแรงกดดันให้ช่วงครึ่งปีหลังนี้ ภาคครัวเรือนจะเริ่มมีการตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน

อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ ต้องการเสนอมาตรการต่างๆ ให้รัฐบาลนำไปพิจารณาปฏิบัติ ดังนี้

1.รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น นับตั้งแต่หมวดอาหาร ค่าโดยสาร ค่าเชื้อเพลิง

2.รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน โดยพิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ และอำนวยความสะดวกในลักษณะ single window

3.รัฐต้องหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายและการลงทุน

4.ควรเร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของโครงการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 350,000 ล้านบาท ให้เสร็จโดยเร็ว

5.รัฐบาลควรเปิดช่องให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Bank) เข้ามาช่วยดูแลกลุ่มธุรกิจ SME ในลักษณะ Fast Track เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง

6.รัฐต้องกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อที่จะผลักดันให้การท่องเที่ยวบรรลุ 2.2 ล้านล้านบาท โดยให้ประเทศไทยเป็น Shopping Destination ของ Asia in All Segments

7.อยากให้รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนผู้ค้าปลีกไทยไปลงทุนในอาเซียนอย่างชัดเจน เพราะการที่ผู้ค้าปลีกไทยสามารถไปขยายธุรกิจในอาเซียน นั่นหมายถึงจะมีผู้ประกอบการ ซัปพลายเออร์ตามไปขยายธุรกิจด้วยเป็นพันๆ ราย

8.รัฐบาลต้องกำหนดให้ BOI เป็นศูนย์กลางประสานการลงทุนในอาเซียนในลักษณะ one stop service แบบ JETRO ของญี่ปุ่น

9.มาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศกว่า 26 ล้านคน สมาคมฯ ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้า Luxury Brand (Apparel, leather and footwear, Cosmetic and Fragrance) ลงมาในระดับร้อยละ 0-5 เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายชอปปิ้งของนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น และเพื่อจูงใจให้นักชอปปิ้งไทยจับจ่ายภายในประเทศแทนที่จะนำเงินตราไปใช้จ่ายยังต่างประเทศ เพราะจากรายงานของ Global Blue คนไทยไปจับจ่ายสินค้า Duty Free ในภาคพื้นยุโรปเพิ่มขึ้นถึง 56% ในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 18% ในเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มขึ้น 38% ในเดือนมีนาคมคม ซึ่งจัดเป็นอันดับ 6 รองมาจากนักชอปชาวจีน รัสเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และอเมริกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น