xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News 25/07/56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



  • ดัชนี PMI ยูโรโซนเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50.1 จุด เข้าสู่ระดับขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี  จาก 48.8 จุดในเดือนมิถุนายน โดยดัชนีฯ ซึ่งอยู่ที่ระดับสูงกว่า 50 จุด สะท้อนถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสนับสนุนมุมมองที่ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนกำลังจะพ้นจากภาวะถดถอย

  • ยอดค้าปลีกของอิตาลีในเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนเม.ย. โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายอาหารที่เพิ่มขึ้น 0.6% แม้ยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารจะลดลง 0.2% ก็ตาม อย่างไรก็ดี ถ้ามองในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ยอดค้าปลีกของอิตาลี ยังคงลดลง 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของฝรั่งเศสเดือนก.ค.เพิ่มขึ้นแตะ 48.8 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 เดือน แต่ยังต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจโดยรวมของภาคเอกชนฝรั่งเศสอยู่ในภาวะหดตัว ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตปรับขึ้นสู่ระดับ 49.8 ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการเพิ่มขึ้นแตะ 48.3 สูงสุดในรอบ 11 เดือน

  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเยอรมนีเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 52.8 จุด สูงสุดในรอบ 5 เดือน โดยดัชนีที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางธุรกิจโดยรวมขยายตัวขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตปรับขึ้นสู่ระดับ 50.3 และเป็นการดีดตัวขึ้นจากระดับหดตัวมาเป็นขยายตัว ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการเพิ่มขึ้นแตะ 52.5 ในเดือน ก.ค.

  • ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐเดือนก.ค. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 53.2 จุด จาก 51.9 จุด ในเดือนมิถุนายน สูงสุดในรอบ 4 เดือน ส่วนดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 55.1 จุด จาก 53.4 จุด และดัชนีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 52.6 จุด จาก 49.9 จุด

  • ก.พาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านใหม่เดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 8.3% มาอยู่ที่ 497,000 ยูนิต นับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ค. 2551 หรือเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปี ขณะที่สต็อกบ้านใหม่ที่รอขายปรับเพิ่มขึ้น 1.3% แตะ 161,000 ยูนิต สูงสุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากผู้สร้างบ้านเร่งสร้างบ้านอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับอุปสงค์ที่ขยายตัว อย่างไรก็ตาม อุปทานที่อยู่อาศัยก็ยังมีจำกัด ผลักดันให้ราคากลางของบ้านใหม่สูงขึ้น 7.4% จากปีที่แล้ว แตะ 249,700 ดอลลาร์ในเดือนมิ.ย.

  • ญี่ปุ่น ขาดดุลการค้าเดือน มิ.ย. 1,820 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินเยนที่ทำให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 11.8 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นช่วงที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นเพียง 7.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยคาดว่าเป็นผลจากความต้องการของผู้บริโภคในยุโรปที่กระเตื้องขึ้น และปริมาณการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐเพิ่มขึ้น

  • ก.คลังญี่ปุ่น เผยว่า การส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ลดลง 0.6%  ซึ่งเป็นผลกระทบจากข้อพิพาทดินแดนระหว่าง 2 ประเทศ เกี่ยวกับหมู่เกาะรกร้างในทะเลจีนตะวันออก อย่างไรก็ตาม ยอดนำเข้าสินค้าจากจีนของญี่ปุ่นยังปรับตัวขึ้น 11.4% สู่ระดับ  8.11 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่มีข้อมูลที่นำมาเปรียเทียบได้ในปี 2522

  • องค์การการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (JNTO) เผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ทำสถิติสูงที่ระดับ 4.95 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 22.8% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากเงินเยนที่อ่อนค่า และความนิยมที่เพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำ โดยพบว่า ชาวเกาหลีใต้เดินทางมาญี่ปุ่นมากที่สุด ด้วยจำนวน 1.32 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 38.4% จากปีก่อนหน้า รองลงมาคือชาวไต้หวัน เพิ่มขึ้น 49.4% อยู่ที่ 1.03 ล้านราย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงถึง 27% อยู่ที่ 536,200 ราย เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่น และจีนเกี่ยวกับหมู่เกาะเซนกากุในทะเลจีนตะวันออก

  • เซี่ยงไฮ้ ซิเคียวริตี้ส์ นิวส์ เผยว่า ยอดปล่อยเงินกู้ของธนาคารรายใหญ่ 4 แห่งของจีนปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (แบงก์ ออฟ ไชน่า   ไชน่า คอนสตรัคชั่น แบงก์   อินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า (ICBC) และอะกริคัลเจอรัล แบงก์ ออฟ ไชน่า (ABC) ) ซึ่งพุ่งขึ้นแตะระดับ 2.2 แสนล้านหยวนในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนก.ค. เมื่อเทียบกับ 1.7 แสนล้านหยวนในสัปดาห์แรกของเดือน

  • ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20% เป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงก็ตาม ซึ่งเกิดจากความต้องการที่แข็งแกร่งของกลุ่มผู้ซื้อบ้านหลังแรกในจีน โดยตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่คึกคักนั้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ในระบบเศรษฐกิจจีน

  • เอซี นีลเซน เผยผลสำรวจ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ โดยยืนอยู่ที่ 110 เพิ่มขึ้น 2 จุด จากไตรมาสแรก และเพิ่มขึ้น 4 จุดจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคจีนเต็มใจที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นและฐานะการเงินส่วนบุคคลที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า เศรษฐกิจจีนขยายตัว 7.5% ในไตรมาส 2 ซึ่งชะลอตัวลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 7.7%

  • ธ.กลางอินเดีย ยังคงเดินหน้าควบคุมการนำเข้าทองคำ โดยกำหนดให้ธ.พาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรองทองคำ 20% หรือ 1 ใน 5 ของการนำเข้าทองคำทุกๆล็อตในคลังสินค้าของศุลกากร

  • เอเจนซี่ ฟอร์เรียลเอสเตส (AREA) เผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคึกคักต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยคาดว่าปี 56 จะมียอดขายที่อยู่อาศัยสูงถึง 115,480 หน่วย เพิ่มขึ้น 7.5% จากปีก่อนที่ขายได้ทั้งสิ้น 107,412 หน่วย ขณะที่ปัจจุบันมีหน่วยรอขายอยู่ทั้งสิ้น 133,238 หน่วย ซึ่งถือว่ายังไม่มากนัก หรือเพียง 3% ของจำนวนบ้านทั้งหมดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

  • รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึง ภาวการณ์ลงทุนภาคอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งแรกของปี 2556มีมูลค่าการลงทุนขยายตัว 47% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555  โดยมีโครงการลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จำนวน 1,055 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 632,800 ล้านบาท โดยกลุ่มที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ การบริการและสาธารณูปโภค ตามด้วยกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วน โลหะ เครื่องจักร และอุตสาหกรรมการเกษตร

  • รมว.อุตสาหกรรม ตั้งเป้าหมายการลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ขึ้นเป็นอันดับ 5 ของโลกภายในปี 2560 ด้วยยอดผลิตจำนวน 3 ล้านคัน จากปัจจุบันที่อยู่ที่อันดับ 9 ของโลก หรือ 2.5 ล้านคัน

  • กรมการค้าระหว่างประเทศ คาดว่า นักลงทุนต่างชาติจะสนใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนด้านระบบแฟรนไชส์ หลังเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 สำหรับแฟรนไชส์แบรนด์ของไทยก็มีโอกาสในตลาดอาเซียนอย่างมาก อาทิ อินโดนีเซีย เนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 6.3-6.5% ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา และชาวอินโดนีเซียระดับชนชั้นกลางมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

  • นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่า ธปท. เชื่อว่าเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังยังคงจะเผชิญกับความผันผวนของตลาดเงินโลก เนื่องจากมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรป ยังไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบเบ็ดเสร็จ ตลาดการเงินจึงยังไม่เห็นภาพชัดเจน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าระบบการเงินไทยจะไม่เกิดภาวะตึงตัวในช่วงครึ่งปีหลังนี้ แม้ว่าอาจจะเกิดภาวะเงินทุนจากต่างประเทศไม่ได้ไหลกลับเข้ามาหลังจากที่ไหลออกไปในช่วงก่อนหน้านี้




  • SET Index ปิดที่ 1,501.36 จุด ลดลง 11.95 จุด หรือ -0.79% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 53,354.69 ล้านบาท ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นอินโดนีเซียและตลาดหุ้นอินเดีย ประกอบกับดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงยืนเหนือ 1,500 จุด จากวันก่อนหน้า ส่งผลให้มีแรงขายออกมา อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตลาดหุ้นยุโรปและสหรัฐฯยังอยู่ในทิศทางที่ดี จึงคาดว่าดัชนีฯจะถูกกดดันจากแรงขายในระยะสั้นๆเท่านั้น




  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 0-10 bps โดยเฉพาะรุ่นอายุ 10-12 ปี สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐวิสาหกิจอายุ 5 ปี และ 7 ปี มูลค่ารวม 1,650 ล้านบาท

  • ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์และเงินเยน หลังมีรายงานว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของยูโรโซนขยายตัวเหนือความคาดหมายในเดือนก.ค. ทั้งนี้ เงินยูโรแข็งค่า 0.1% อยู่ที่ระดับ 1.3241 ดอลลาร์/ยูโร และแข็งค่าขึ้น 0.8% ที่ 132.47 เยน/ยูโร


กำลังโหลดความคิดเห็น