xs
xsm
sm
md
lg

“พงษ์ศักดิ์” ชง “ปู” ตรึงค่าไฟ-ดีเซล-แอลพีจีขนส่ง-NGV ถึงสิ้นปี ดูแล ศก.ครึ่งหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานพร้อมดูแลค่าครองชีพประชาชน เล็งใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ดูแลราคากลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์หากอยู่ในระดับที่สูง ส่วนดีเซลยืนนโยบายตรึงราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แอลพีจีขนส่ง-NGV ตรึงราคาเดิมถึงสิ้นปี หวังช่วยดูแล ศก.ครึ่งหลัง แต่แอลพีจีครัวเรือนเดินหน้าขยับตามกรอบเดิม ก.ย. ย้ำไม่กระทบค่าครองชีพ เหตุมีมาตรการดูแลคนรายได้ต่ำ 7.5 ล้านราย

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าในท้องตลาด มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน บ่ายวันนี้ (12 ก.ค.) กระทรวงพลังงานจะเสนอแนวทางการดูแลค่าครองชีพประชาชนด้านพลังงานที่สำคัญคือด้านราคาน้ำมัน ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายรับเป็นบวกกว่า 4,000 ล้านบาท ระยะสั้นจะสามารถนำมาบริหารเพื่อดูแลราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินได้บ้าง ส่วนดีเซลยังคงนโยบายเดิมคือตรึงดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท

นอกจากนี้ ส่วนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่จะเรียกเก็บในบิลค่าไฟงวดหน้า (ก.ย.-ธ.ค. 56) ที่หากพิจารณาต้นทุนจริงพบว่าจะสูงขึ้น 2.8 สตางค์ต่อหน่วยจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระในส่วนนี้ไปก่อนได้ เนื่องจากการแบกรับภาระค่าไฟแทนประชาชนของ กฟผ.ก่อนหน้านี้ได้หมดลงแล้ว

สำหรับราคาแอลพีจีหรือก๊าซหุงต้มส่วนของภาคขนส่งจะยังคงตรึงราคาที่ระดับ 21.83 บาทต่อกิโลกรัมจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อดูแลต้นทุนภาคขนส่งเช่นเดียวกับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV ก็จะตรึงไว้ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัมถึงสิ้นปี ส่วนแอลพีจีครัวเรือนที่ตรึงราคาไว้ 18.13 บาทต่อ กก.จนถึง 31 ส.ค.นั้นยังคงเป็นไปตามกรอบเดิม โดยยืนยันการปรับราคาเดือน ก.ย. 56 โดยทยอยขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ต่อ กก.จนครบ 6 บาทต่อ กก. หรือราคาจะไปสู่ที่ 24.82 บาทต่อ กก. ซึ่งเห็นว่าส่วนนี้จะไม่กระทบค่าครองชีพประชาชนเพราะกระทรวงพลังงานกำหนดมาตรการดูแลผู้มีรายได้ต่ำรวม 7.5 ล้านรายแล้ว

“การปรับราคาแอลพีจีครัวเรือนจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาอาหาร เพราะข้อมูลจากการคำนวณต้นทุนก๊าซต่ออาหารพบว่า ปัจจุบันราคาก๊าซ 18.13 บาทต่อ กก.เป็นต้นทุนอาหาร 1% หรือ 30 สตางค์ต่อจาน หากขยับราคาก๊าซเดือนละ 50 สตางค์ต่อ กก.จะกระทบต้นทุนอาหาร 1.5 สตางค์ต่อจาน และหากปรับราคาครบ 6 บาทต่อ กก.จะกระทบต้นทุนอาหารที่ 10 สตางค์ต่อจานเท่านั้น ดังนั้นผู้ขายอาหารจะอ้างว่าราคาก๊าซกระทบต้นทุนไม่ได้” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น