xs
xsm
sm
md
lg

เคาะแล้วซื้อไฟจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา 3 อัตรา ชง กพช. 16 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พงษ์ศักดิ์” ชง กพช. 16 ก.ค.นี้คลอดแนวทางรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน และโรงงานเล็กและใหญ่ เคาะรับซื้อไฟหรือ Feed in tariff บ้านที่อยู่อาศัย 6.96 บาทต่อหน่วย ธุรกิจเล็ก 6.55 บาทต่อหน่วย และธุรกิจขนาดใหญ่ 6.16 บาทต่อหน่วย ใช้ระหว่างปี 2556-2557 หวังบูมผลิตไฟจากแสงอาทิตย์ 200 เมกะวัตต์
 

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 16 ก.ค.นี้ จะเสนอแนวทางสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยอัตราค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ Feed in tariff ในการติดตั้งการผลิตไฟจากแสงอาทิตย์บนหลังคา Solar Rooftop ทั้งบ้านประชาชนทั่วไป โรงงานขนาดเล็กและขนาดกลางถึงใหญ่ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการประหยัดค่าไฟ เป็นการลดค่าครองชีพและต้นทุน โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้าได้ 200 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ราคารับซื้อไฟ (Feed in tariff) สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 6.96 บาทต่อหน่วย กำลังการผลิตไฟไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ธุรกิจขนาดเล็กผลิตไฟไม่เกิน 25 กิโลวัตต์ อยู่ที่ 6.55 บาทต่อหน่วย และธุรกิจขนาดกลางและใหญ่อยู่ที่ 6.16 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลาอุดหนุนค่าไฟทั้งสิ้น 25 ปี และอัตราดังกล่าวจะประกาศใช้ระหว่างปี 2556-2557 ซึ่งหากต้นทุนต่างๆ ลดลงอัตราดังกล่าวจะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทุกปี ซึ่งแผนส่งเสริมครั้งนี้จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าเพียง 0.50 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น

“หลังจากที่ประกาศแล้วเชื่อว่าทางผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ที่จะขายกับประชาชนก็คงจะไปทำการตลาดกันเองว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนหันมาสนใจติดตั้ง คล้ายกับกรณีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น ฯลฯ ที่จะมีระบบไฟแนนซ์ ผ่อนจ่าย” รมว.พลังงานกล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กระบวนการดำเนินงานไม่ล่าช้า ได้กำหนดขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆ ให้เป็นแบบบริการครบวงจนเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ด้วยการมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) พิจารณาดำเนินการทั้งหมดได้เลย
นอกจากนี้จะเสนอ กพช.อนุมัติให้มีการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (NGV) เกรดพรีเมียมโดยไม่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยเปิดให้เอกชนรายใดที่สนใจจะดำเนินการจำหน่ายสามารถยื่นขอที่ บมจ.ปตท.ได้ทันที เช่นเดียวกับสามารถยื่นขอล่วงหน้ากรณีที่จะรับ NGV จากแนวท่อก๊าซที่จะวางไปยัง จ.นครสวรรค์ และพิษณุโลกเพื่อให้มีการเตรียมแผนก่อสร้างไว้ เมื่อท่อสร้างเสร็จก็พร้อมจะเปิดให้บริการทันที

ในส่วนของจังหวัดห่างไกลหรือตามชายแดนที่อยู่นอกแนวท่อก๊าซฯ ปตท.ส่งไปค่าขนส่งจะแพงมาก ดังนั้นจึงมอบหมายให้ ปตท.เร่งสร้างโรงงานผลิตชีวภาพอัด หรือ CBG เพื่อนำมาใช้ทดแทน NGV โดยจะสามารถกระจายการบริการได้ 200 แห่งตามจังหวัดห่างไกล โดยเฉพาะที่ จ.ลำปางที่ขณะนี้อุตสาหกรรมเซรามิกต้องการเชื้อเพลิงราคาถูก
กำลังโหลดความคิดเห็น