xs
xsm
sm
md
lg

จับพิรุธจ่ายแคชเชียร์เช็ค 8 หมื่นบาทซื้อขายข้าวจีทูจีรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ โฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์ ออกมาบอกเมื่อวานนี้(11ก.ค.)กรณีการตรวจสอบแคชเชียร์เช็คที่เกี่ยวกับการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีการสั่งจ่ายเช็คเป็นจำนวนเงิน 8 หมื่นบาทว่า การสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนการรับมอบข้าวตามปกติ 
จับพิรุธขายข้าวจีทูจีรัฐบาลปู ใครใคร่ขน-ขน ขนไปเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น? ขนน้อยจ่ายเช็ค 8 หมื่น คำอธิบายของพาณิชย์ที่ต้องคิดตาม มีที่ไหนใครเขาทำกัน?

ตามที่มีข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ออกมาระบุว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ส่งแคชเชียร์เช็คที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มาให้ ป.ป.ช. จำนวน 1,460 ฉบับ และ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบย้อนกลับไป และพบว่า ออกมาจากธนาคารถึง 6 แห่ง

การซื้อขายข้าวจีทูจีที่รัฐบาลระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า มีสัญญาซื้อขายสูงถึง 7.3 ล้านตัน และได้มีการทยอยขนข้าวออกไปเรื่อยๆ และจ่ายเงินกันเรื่อยๆ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ระบุว่า มีการนำเงินจากการขายข้าวส่งคืนกระทรวงการคลังแล้วกว่า 1.3 แสนล้านบาท

คำถามที่เกิดขึ้น เวลาซื้อขายข้าวกันเป็นล้านๆ ตันเขาจ่ายเงินกันแบบไหน แล้วยิ่งมีแคชเชียร์เช็คมากถึง 1,460 ฉบับเขาคิดค่าข้าวกันอย่างไร จ่ายเงินกันอย่างไร ซึ่งหลายๆ คนคงต้องการคำตอบและต้องการความชัดเจนในเรื่องนี้ แม้แต่ ป.ป.ช.เอง

ทั้งนี้ ล่าสุด ป.ป.ช.กำลังทำการตรวจสอบแคชเชียร์เช็คทั้ง 1,460 ฉบับว่าบุคคลที่ซื้อเช็คแต่ละฉบับเป็นใคร ซื้อจากบัญชีใด ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาบ้างเพราะกระจายอยู่ถึง 6 ธนาคาร แต่หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก็พบพิรุธทันที เพราะแคชเชียร์เช็คบางฉบับมีเงินสั่งจ่ายเพียงแค่ 8 หมื่นบาท ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะอนุกรรมการไต่สวนการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ได้ระบุว่า เป็นที่น่าสงสัยเพราะมีเช็คหลายฉบับ แค่จำนวนเงินไม่กี่หมื่นก็มีการเซ็นเช็คออกมา มันมีที่ไหนที่ทำจีทูจี ทำการค้าระหว่างรัฐต่อรัฐแล้วจ่ายเช็คแค่ 8 หมื่นกว่าบาท รัฐที่ไหนจะจ่าย

เป็นคำถามที่ ป.ป.ช.ยิงตรงถึงกระทรวงพาณิชย์เพื่อต้องการคำตอบ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่กระทรวงพาณิชย์จะตอบคำถามต่อ ป.ป.ช. นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ว่า การสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนการรับมอบข้าวตามปกติ โดยการซื้อข้าวทั้งแบบจีทูจี การขายเป็นการทั่วไป และการขายให้องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ซื้อจะต้องซื้อยกคลัง (เหมาหลัง) โดยผู้ซื้อจะทยอยชำระเงินและรับมอบข้าวตามปริมาณที่ชำระเงินในแต่ละงวด

ส่วนการขนข้าวออกจากโกดัง ผู้ซื้อจะมอบหมายให้ผู้แทนมาตรวจสอบข้าวในคลังสินค้ากลางเพื่อให้ได้ปริมาณและคุณภาพเป็นไปตามสัญญาแล้วจึงขนข้าวออกไป ซึ่งจะขนออกตามปริมาณที่ได้จ่ายเงินให้กรมการค้าต่างประเทศ ไม่ได้ขนออกทีเดียวทั้งหมด เพราะข้าวมีปริมาณมาก และรถบรรทุกที่มาขน 1 คันก็สามารถขนข้าวออกได้ประมาณ 20 ตัน ขนข้าว 2,000 ตัน ก็ต้องใช้รถบรรทุกถึง 100 คัน และยิ่งข้าวในโกดังมีปริมาณมากๆ ก็ต้องใช้รถบรรทุกมาก แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากที่จะมาขนให้หมดทีเดียว

สำหรับข้าวที่มีปัญหาว่าจ่ายเช็คเพียงแค่ 8 หมื่นบาทเป็นเศษข้าวที่เหลือจากการขนข้าวล็อตใหญ่ออกไปจากโกดังแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ โดยข้าวที่เป็นที่มาของเช็ค 8 หมื่นบาทก็เป็นข้าวที่เหลือในโกดังประมาณ 5 ตัน หรือประมาณ 50 กระสอบ ทำให้ต้องจ่ายเงินก่อนขนข้าวออกไปเพียง 8 หมื่นบาทของจำนวนข้าว 5 ตัน

หรือจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ หากในโกดังมีข้าวอยู่ 20,000 ตัน ถ้าจะขนออกทีเดียวก็ต้องใช้รถบรรทุกถึง 2,000 คัน ซึ่งคงไม่มีใครทำได้

ทั้งหมดนี้เป็นคำชี้แจงจากกระทรวงพาณิชย์ถึงที่มาของการจ่ายเช็ค 8 หมื่นบาทเป็นค่าซื้อข้าวจีทูจี ซึ่งก็พอที่จะอธิบายข้อสงสัยได้ แต่ยังไม่หมดเสียทีเดียว เพราะวิธีปฏิบัติในการซื้อขายข้าวเขาใช้วิธีการแบบนี้ได้ด้วยหรือ กล่าวคือ เมื่อได้รับอนุมัติให้ซื้อข้าวแล้ว อยากขนออกเท่าไรก็ให้จ่ายเงินเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น ในโกดังมีข้าวอยู่ 50,000 ตัน วันนี้อยากขนออกแค่ 2,000 ตันก็จ่ายเงินเป็นค่าข้าวแค่ 2,000 ตัน แล้วไปขนข้าวออก พรุ่งนี้อยากขนออกอีก 5,000 ตันก็จ่ายเงินเป็นค่าข้าวอีก 5,000 ตันแล้วไปขนออก ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับผู้ที่ซื้อข้าวจากรัฐทุกรายจริงหรือไม่ หรือเป็นเงื่อนไขที่เอื้อให้เฉพาะเอกชนบางราย

เพราะใครๆ ก็ตั้งข้อสงสัยว่า ข้าวจีทูจี 7.3 ล้านตันนั้นเป็นจีทูจีลวงโลกที่อุปโลกน์ขึ้นมาว่าขายจีทูจี แต่ไม่เคยปรากฏยอดส่งออกว่าประเทศที่ซื้อข้าวจีทูจีรายใหญ่อย่างจีน มีการนำเข้าข้าวจากไทยที่เพิ่มขึ้นเลย เพราะข้าวที่ขายออกไปมันได้วนเวียนกลับมาขายทั้งในประเทศ และนำกลับเข้าสู่โครงการรับจำนำจนทำให้รัฐบาลเจ๊งยับไม่เป็นท่าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

เงื่อนไขการจ่ายเงินค่าข้าวที่กล่าวมาทั้งหมด ถ้าเป็นเงื่อนไขที่ให้ใช้กับผู้ที่ซื้อข้าวรัฐบาลทุกราย ก็หมายความว่าผู้ที่กำลังจะประมูลข้าวจากรัฐบาลในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ แม้ใครประมูลข้าวไปได้แล้ว อยากจะขนออกเมื่อไรก็ให้จ่ายเงินเท่าที่ปริมาณข้าวที่ตัวเองต้องการจะขนออก ส่วนที่ยังไม่ขนออกก็ยังไม่ต้องจ่ายเงิน

หากทุกคนได้รับเงื่อนไขเช่นนี้ การจ่ายเช็คตามปริมาณข้าวที่ขนออกจะมากบ้าง น้อยบ้าง จะหลักล้าน หลักแสน หรือหลักหมื่นก็น่าจะทำได้ แล้วตอนนั้นจะเชื่อว่าซื้อข้าวรัฐ จ่ายเช็คกันแค่หลักหมื่น  ชัวร์ หรือมั่วนิ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น