xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟตกราง เร่งสอบสาเหตุกลับประแจผิดพลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.สอบสาเหตุรถไฟตกรางใกล้หัวลำโพง คาดปรับระบบกลับประแจจากระบบอัตโนมัติเป็น Manual เลยเกิดผิดพลาด คาดสรุปใน3 วัน ขณะที่ใช้เวลากว่า7 ชม.ยกรถพร้อมซ่อมทางก่อนเปิดเดินรถได้ปกติช่วงเย็น ทำขบวนรถล่าช้าทั้งวัน

วันนี้ (1 ก.ค.) เวลาประมาณ 09.00 น.ได้เกิดเหตุโบกี้รถไฟซึ่งเป็นรถเปล่า จำนวน 2 คัน ตกรางบริเวณชุมชนคลองส้มป่อย ซึ่งอยู่ระหว่างสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) กับสถานีจิตรลดา โดยพบว่าโบกี้รถนอนชั้น 2 ตกรางทั้งขบวน ส่วนอีกคันเป็นโบกี้รถนั่งชั้น 2 นั้นอยู่ในสภาพตกรางไปครึ่งคัน ซึ่งเหตุเกิดขณะรถเคลื่อนตัวออกจากสถานีหัวลำโพงมุ่งหน้าไปยังสถานีชุมชนบางซื่อ เพื่อเข้าไปจอดเก็บไว้ในโรงเก็บ และเป็นรถเปล่าจึงทำให้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

โดยนายจรัสพันธ์ วัชโรทัย ผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ระหว่างยกรถออกและซ่อมทางนั้นมีความจำเป็นต้องปรับการเดินรถ โดยรถไฟทุกขบวนที่มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ จะต้องหยุดรถที่ปลายทางสถานี สามเสน และสถานีบางซื่อ ส่วนรถทุกขบวนที่ออกจากสถานีหัวลำโพงจะเลี่ยงไปใช้เส้นทางอ้อมสายตะวันออกผ่านสถานีมักกะสันเพื่อเข้าสู่สถานีบางซื่อต่อไป จึงทำให้เสียเวลาเพิ่มประมาณ 30 นาที-1 ชั่่วโมง โดยสามารถยกรถออกจากเส้นทางขาล่อง (เข้าหัวลำโพง) เสร็จและเปิดเดินรถได้ในเวลา 13.35 น. ส่วนขาขึ้น (ออกจากหัวลำโพง) ยกรถเสร็จและเปิดเดินรถได้ตามปกติในเวลา 16.20 น. 

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุของอุบัติเหตุตกรางครั้งนี้เนื่องจากขณะที่รถไฟเคลื่อนมาถึงบริเวณเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ประจำจุดได้ทำการสับรางเพื่อให้ขบวนรถไฟซึ่งวิ่งมาจากรางตรงกลางเบี่ยงออกไปทางซ้าย โดยเมื่อหัวขบวนได้เคลื่อนผ่านไปแล้ว แต่ยังเหลือโบกี้ท้ายขบวนที่ยังไม่เคลื่อนผ่าน จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการสับรางคืนก่อนที่ขบวนรถไฟจะเคลื่อนผ่านไปจึงทำให้โบกี้ท้ายหลุดจากราง

นายจรัสพันธ์กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเกิดจากการกลับประแจใต้ท้องรถผิดพลาด ซึ่งปกติจะใช้ประแจกลไฟฟ้าระบบอัตโนมัติควบคุมรถต้องผ่านไปทั้งขบวนก่อนประแจจึงจะกลับได้  แต่โดยขบวนรถดังกล่าวมี 8 โบกี้ เมื่อรถผ่านไปได้ 6 ตู้ประแจเกิดกลับทำให้รถ 2 โบกี้ตกราง ดังนั้นจึงต้องสอบสวนหาสาเหตุว่า ประแจกลับก่อนที่ขบวนรถจะพ้นไปทั้งหมดได้อย่างไร โดยจะสรุปผลภายใน 3 วัน ซึ่งเบื้องต้นสันนิษฐานว่าระบบอัตโนมัติอาจขัดข้องจึงมีการเปลี่ยนมาใช้ระบบ Manual ควบคุมและเกิดความผิดพลาดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น