xs
xsm
sm
md
lg

เฟิร์ส โซลาร์รุกตลาดโซลาร์รูฟท็อป ลั่น 3 ปีโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์แข่งขันได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - เฟิร์ส โซลาร์มั่นใจ 3 ปีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนแข่งขันโรงไฟฟ้าที่ใช้เพลิงฟอสซิลได้ โดยพร้อมลุยทำตลาดโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา

นายแจ็ค เคอร์ติส รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เฟิร์ส โซลาร์ อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนต่ำของโลก เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความมั่นใจว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าจะสามารถพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ได้ในราคาที่ต่ำลง ทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แข่งขันกับโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ จากปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์อยู่ที่ 55-56 เซ็นต์/หน่วย หรือคิดเป็นต้นทุนการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ 60 ล้านบาท/เมกะวัตต์

โดยปีที่แล้วบริษัทฯ มีการบริหารต้นทุนการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทำให้มีต้นทุนต่ำลง 20-25% และมีแนวโน้มที่จะลดต้นทุนให้ต่ำกว่านี้ได้อีก โดยอาศัยประสบการณ์การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศถึง 3 พันเมกะวัตต์ ทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จนเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าผู้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อ

นายแจ็คกล่าวว่า บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะเข้าสนับสนุนนโยบายรัฐในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) รวมทั้งสามารถผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้ต่ำลงจนสามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้โครงสร้างอัตราการรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนจริง (ฟีด อินทารีฟ) ที่ 5.12 บาท/หน่วย แทนการให้เงินอุดหนุนแบบ ADDER ที่ 6.50 บาท/หน่วยได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐว่าจะเปิดให้ใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รอบใหม่มากน้อยเพียงใด

โดยยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยให้ ADDER ที่ 8 บาท/หน่วย จนทำให้มีผู้สนใจโดดเข้ามาร่วมทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมาก จนต้องมีการลดเงินอุดหนุนลงเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า

ปัจจุบัน เฟิร์ส โซลาร์ได้มีการทำตลาดเซลล์แสงอาทิตย์และติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยแล้ว 15 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นลูกค้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอยู่แล้ว โดยในอนาคตระยะยาวบริษัทฯ มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยเองเหมือนที่สหรัฐฯ ซึ่งบริษัทฯ ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ 550 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 1-2 ปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น