xs
xsm
sm
md
lg

กรอ.เล็งออกระเบียบนำ RFID คุมการจัดการกากอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมโรงงานอุตสาหกรรมปิ๊งไอเดียดึงระบบ RFID มาคุมการจัดการกากของเสียอันตรายควบคู่กับระบบ GPS ในรถขนกากป้องกันลักลอบทิ้ง คาดสรุปรายละเอียดภายใน ก.ค.นี้ โรงงานที่ก่อกำเนิดกากอันตรากว่าหมื่นแห่งอาจต้องยอมรับภาระที่ต้องจ่ายเพิ่ม “กนอ.” เร่ง รง. 4 พันแห่งในนิคมฯ เข้าระบบกำจัดกาก


นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.ได้ไปศึกษาดูงานเทคโนโลยีระบบระบุลักษณะของวัตถุด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFID) ที่ศูนย์โลจิสติกส์และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน และท่าเรือฮ่องกง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบการกำจัดกากอุตสาหกรรมในไทยที่ กรอ.มีแนวคิดนำร่องมาติดตั้งกับระบบกำจัดกากของเสียอันตราย 20 ประเภท โดยมีโรงงานอยู่ในระบบกว่า 1 หมื่นแห่ง คาดว่าจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดได้ภายใน ก.ค.นี้

“ระบบ RFID จะมีการติดตั้งคล้ายกุญแจหรือ E-Lock ที่จะมีการป้อนข้อมูลต่างๆ ไว้ เช่น ประเภทวัตถุ ปริมาณ แหล่งที่จะส่ง ผู้ผลิต ผู้รับ และมีรหัสลับไว้ปลดล็อก โดยระบบนี้ กรอ.คิดที่จะนำมาใช้กับการติดตั้งกับถังกากที่จะขนไป โดยจะนำมาเสริมกับระบบปัจจุบันที่ได้มีการติดระบบบอกตำแหน่งบนพื้นโลก หรือ GPS ที่ติดกับรถขนกากอันตรายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งหากศึกษาได้ข้อสรุปก็จะประกาศเป็นระเบียบ กรอ.ต่อไป” นายณัฐพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานที่สุดคงจะต้องไปบวกเป็นต้นทุนของโรงงานที่เป็นผู้ก่อให้เกิดวัตถุอันตรายมากขึ้น โดยอาจไปอยู่ในรูปของค่าบริการกำจัดกากที่เพิ่มขึ้น หรืออาจจะเป็นการลงทุนหรือไม่คงจะต้องดูรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้ตัวล็อกจะมีราคาอยู่ที่ 4,000-5,000 บาทต่อเครื่อง และมีค่าบริการเป็นรายเดือนอีกเฉลี่ยเดือนละ 1,000 บาทต่อเครื่อง แต่รหัสสามารถปรับเปลี่ยนได้ใหม่ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้สูงนักเมื่อเทียบกับความสามารถควบคุมการกำจัดกากให้ถูกกฎหมาย

ปัจจุบันมีโรงงานแจ้งขนกากอันตรายในไทยปีละ 2.45 ล้านตันแต่เข้าระบบจริงๆ เพียงกว่าล้านตันเท่านั้น ทำให้ยังมีปัญหาการลักลอบอยู่แม้ว่าจะมีการบังคับให้ติดตั้งระบบ GPS ในระบบขนส่งแล้ว แต่ก็ยังมีเทคนิคในการหลบหลีกได้ด้วยการนำถังกากออกมาแล้วให้รถวิ่งไปตามทาง ซึ่งระบบ RFID ที่จะนำมาใช้จะครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางคือผู้ก่อให้เกิดกากอันตรายไปจนถึงผู้บำบัด ซึ่งจะรวมถึงโรงงานรีไซเคิลของเสียที่มีอยู่ 400 กว่าแห่งด้วย เพราะเวลานี้พบว่ามีการระบุว่าจะนำไปรีไซเคิลแต่กลับนำไปทิ้งจำนวนมาก

ทั้งนี้ ไทยได้นำเทคโนโลยี RFID มาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งด้านการขนส่ง เช่น บัตรผ่านทางด่วน (easy pass) บัตรโดยสารรถไฟฟ้ามหานครและรถไฟฟ้าใต้ดิน ผนึกอิเล็กทรอนิกส์ติด RFID ปิดล็อกในตู้คอนเทนเนอร์เพื่อสะดวกในการติดตามการปศุสัตว์ เช่น ติดตามการเจริญเติบโต การควบคุมโรค ฯลฯ เอกสารทางราชการ เช่น บัตรประชาชน หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น