บอร์ด กฟผ.เตรียมเคาะเลือกผู้ว่าฯ คนใหม่แทนนายสุทัศน์ที่จะหมดวาระลง 30 ก.ค.นี้ วงในเผยคณะกรรมการสรรหาให้คะแนน “สุนชัย” นอนมา ขณะที่ผู้ว่าฯ คนเก่าฝากการบ้านดูแลค่าไฟ เหตุอีก 5 ปีข้างหน้าการหาแหล่งพลังงานใหม่จะมีขั้นตอนยุ่งยากและราคาแพงขึ้น
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) เปิดเผยว่า วันพรุ้งนี้ (19 มิ.ย.) บอร์ด กฟผ. ที่มีนางอัญชลี ชวนิชย์ เป็นประธาน จะพิจารณาผลการคัดเลือกผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ จากคณะกรรมการสรรหาที่มีนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มาแทนนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ที่จะครบวาระลงวันที่ 30 ก.ค.นี้ ซึ่งเบื้องต้นเป็นที่คาดการณ์ว่านายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ รองผู้ว่าการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. จะได้รับการเลือกจากบอร์ดเนื่องจากได้รับคะแนนสูงสุด
สำหรับนายสุนชัยเป็น 1 ใน 3 ที่เข้าชิงสมัครเป็นผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ ส่วนอีก 2 รายที่ยื่นได้แก่ นายพงษ์ดิษฐ พจนา รองผู้ว่าการฝ่ายกิจการสังคม กฟผ. และนายธนา พุฒรังสี รองผู้ว่าการระบบส่งไฟฟ้า โดยนายสุนชัยถือเป็นคนใกล้ชิดกับการเมืองฟากกระทรวงพลังงานและประธานบอร์ดเพราะเป็นศิษย์พี่ศิษย์น้องวิศวะ จุฬาฯ ด้วยกัน ขณะที่นายพงษ์ดิษฐนั้นแม้จะมีสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมืองแต่ติดปัญหาเหลืออายุทำงานเพียง 1 ปี 8 เดือน ส่วนนายธนาเป็นเพื่อนสนิทกับการเมืองคนละพรรคกัน
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวในงานเลี้ยงอำลากับสื่อมวลชนว่า นโยบายหลักที่ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ต้องสานต่อคือการให้ความสำคัญต่อการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และการดูแลค่าไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมและประชาชนยอมรับได้ โดยเฉพาะหลังผ่าน 5 ปีไปแล้วการหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ จะมีขั้นตอนที่มากขึ้นและมีต้นทุนที่สูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟให้แพงได้หากไม่บริหารให้รัดกุม ดังนั้นการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนี้ ในส่วนของบริษัทลูก กฟผ.ควรหาโอกาสในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อสร้างผลกำไร โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีหลายประเทศที่ต้องการให้ กฟผ.เข้าไปร่วมทำงานในด้านพลังงานด้วย เช่น ลาว เพราะมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของ กฟผ.
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ รองผู้ว่าการ กฟผ. และเป็นตัวเต็งผู้ว่าการคนใหม่ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญรัฐต้องมีส่วนแบ่งการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานมากถึงครึ่งหนึ่ง ดังนั้นยังเชื่อมั่นว่า กฟผ.จะยังคงครองสัดส่วนผลิตไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทผลิตไฟฟ้ามากขึ้น รวมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นก็ตาม
“กฟผ.ก็ต้องเตรียมแผนให้พร้อมเพื่อลดต้นทุนผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับเอกชน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค เช่น กรณีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกงมีประสิทธิภาพเพียง 38% ขณะที่ความร้อนร่วมมีประสิทธิภาพถึง 61% เรื่องนี้ต้องมาตัดสินใจว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น หรือซ่อมบำรุงเพื่อรักษาระดับผลิตต่อ แต่ก็มีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า” นายสุนชัยกล่าว