“ฮานจู” ปรับกลยุทธ์น้ำผลไม้ผสมเนื้อ “ดู๊ปปี้ ดริ๊งค์” หลังยอดขายปีแรกติดลม ผนึกสหพัฒน์รุกหนักทั้งโมเดิร์นเทรดและเทรดิชันนัลเทรด ลั่นยอดขายปีนี้ 100 ล้านบาท พร้อมรุกเออีซีปีหน้า
นางสาวจุฬาลักษณ์ เตชวัฒนสิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ฮานจู (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มผสมเนื้อผลไม้แบรนด์ “ดู๊ปปี้ ดริ๊งค์” ซึ่งว่าจ้างโรงงานที่เกาหลีผลิต เปิดเผยว่า ปีนี้จะปรับกลยุทธ์การทำตลาดโดยหันมาทำตลาดแบบแมสมากขึ้น ทั้งบีโลว์เดอะไลน์ และอโบฟเดอะไลน์ และขยายฐานตลาดในกลุ่มผู้บริโภคในต่างจังหวัดด้วย
“เราจะทำการตลาดหนักขึ้นในปีนี้ ทั้งการจัดโรดโชว์ การเปิดเว็บไซต์อีกสองเดือนคาดว่าแล้วเสร็จ จากเดิมมีแต่เฟซบุ๊ก เพื่อขยายการรับรู้ในวงกว้างด้วย ล่าสุดได้จัดทำหนังโฆษณาเป็นครั้งแรกจะออนแอร์วันที่ 17 มิถุนยนนี้ และได้ “นารา เทพนุภา” ดาราวัยรุ่น มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ล่าสุดเล่นภาพยนตร์เรื่อง “ฤดูที่ฉันเหงา” ซึ่งจะทำให้เครื่องดื่มนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย ซึ่งสินค้าเราจับกลุ่มเป้าหมายอายุตั้งแต่ 16-30 ปี
อีกทั้งล่าสุดได้ร่วมมือกับทางบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ให้เข้ามาเป็นผู้จัดจำหน่ายด้วย ซึ่งจะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยขณะนี้ช่องทางโมเดิร์นเทรดแทบจะครอบคลุมหมดแล้ว เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และคอนวีเนียนสโตร์อื่น ท็อปส์ กูร์เมต์ ฟูจิ เป็นต้น ส่วนเดือนหน้าจะเริ่มขยายช่องทางเทรดิชันนัลเทรด ซึ่งสหพัฒนมีช่องทางนี้ประมาณ 50,000 ร้านค้า แต่ช่วงแรกคาดว่าจะทยอยเข้า 30,000 ร้านค้าก่อน
ทั้งนี้ ยอดขายปีแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม 55-มีนาคม 56 ทำได้ประมาณ 42 ล้านบาท ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยใช้งบการตลาด 5 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้ตั้งงบการตลาดไว้ช่วง 6 เดือนหลังนี้ 30 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายยอดขายปีนี้ไว้ที่ 100 ล้านบาท หรือเติบโตเท่าตัว
สำหรับตลาดรวมเครื่องดื่มน้ำผลไม้ในไทยมีมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท เติบโต 10% โดยแยกเป็นเครื่องดื่มน้ำผลไม้กลุ่มอีโคโนมีมีประมาณ 4,000 ล้านบาท กลุ่มซูเปอร์อีโคโนมีมีประมาณ 400 ล้านบาท เติบโต 10% เช่นกัน ซึ่งดู๊ปปี้ดริ๊งค์อยู่ในกลุ่มนี้เช่นเดียวกับคู่แข่งคือ มินิดเมทพัลพิ ล่าสุดบริษัทฯ ได้เปิดตัวรสชาติใหม่คือ สตรอว์เบอร์รีผสมเนื้อ จากเดิมมีรสชาติเดียวคือ รสองุ่นผสมเนื้อ แบบกระป๋องขนาด 238 มิลลิลิตร ราคา 20 บาท
นางสาวจุฬาลักษณ์กล่าวต่อด้วยว่า ปีหน้าบริษัทฯ มีแผนที่จะเปิดตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือตลาดเออีซีด้วย ซึ่งได้สิทธิ์จากทางผู้ผลิตเจ้าของสูตรนี้แล้ว เพราะทางเกาหลีก็มีเครื่องดื่มชนิดนี้จำหน่ายในแบรนด์ “บงบง” ด้วย โดยจะผลิตจากเกาหลีแล้วนำเข้าไปจำหน่ายในแต่ละประเทศเช่นกัน แต่แนวทางยังไม่สรุปว่าจะตั้งดิสทริบิวเตอร์ที่เป็นคนท้องถิ่นหรือจะเข้าไปดำเนินการเอง แล้วแต่กรณี โดยจะเริ่มต้นที่ประเทศอินโดนีเซียก่อน เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีแผนที่จะขยายตลาดเครื่องดื่มใหม่ๆ ด้วย