กฟภ.วางเกณฑ์ตัดไฟบ้านใหม่จากเดิมแจ้งเตือนแล้วให้เวลาแค่ 7 วัน เป็น 2 เดือน วาง 3 ขั้นตอน แจ้ง SMS เตือนก่อนส่งเจ้าหน้าที่เจรจาจ่ายหนี้ หลังจากนั้นไม่คืบจึงตัดไฟ พร้อมศึกษากรณีให้ประชาชนจ่ายดอกเบี้ยแทนการไม่ตัดไฟ ระยะยาวเล็งเปลี่ยนมิเตอร์เป็นสมาร์ทมิเตอร์ที่จะส่งสัญญาณการใช้ไปยัง กฟภ. ลดคนจดมิเตอร์มั่ว
นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟภ.ได้ปรับระบบการแจ้งเตือนการชำระค่าไฟฟ้าใหม่ โดยที่ผ่านมาถ้าแจ้งเตือน 7 วันแล้วภายใน 7 วันไม่จ่ายจะตัดไฟทันทีจะปรับเป็นภายใน 2 เดือนแทน โดยจะยึดหลักการปฏิบัติ 3 รูปแบบก่อนที่จะตัดไฟประชาชนที่ค้างชำระ โดยขั้นแรกจะทำการแจ้งเตือนผ่านระบบ SMS ก่อน หลังจากนั้นจะส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจาในการจ่ายหนี้ และกรณีสุดท้ายถ้าตกลงไม่ได้ก็จะต้องตัดไฟทันที
“ผมคิดว่าคนตัดเขาก็ไม่อยากตัดหรอก เราจึงพยายามที่จะหาทางไม่ให้มีการตัดไฟถ้าเป็นไปได้ ซึ่งการส่ง SMS ให้ประชาชนเพื่อแจ้งเตือนน่าจะเริ่มได้ก่อนทันทีซึ่งเร็วๆ นี้คงจะเริ่มดำเนินการเลย ส่วนกรณีรายละเอียดปฏิบัติอื่นๆ คงจะต้องดูรายละเอียดก่อน คาดว่าเกณฑ์ใหม่ทั้งหมดจะเห็นได้เป็นรูปธรรมในเดือน ต.ค.เป็นอย่างเร็ว” นายนำชัยกล่าว
สำหรับกรณีไฟดับภาคใต้เป็นเหตุสุดวิสัยจากฟ้าผ่า และ กฟภ.เป็นหน่วยงานที่ต้องรับไฟจาก กฟผ.อีกครั้ง ดังนั้นทางกระทรวงมหาดไทยและนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทำแผนเผชิญเหตุขึ้นในทุกจังหวัดโดยร่วมมือกับผู้ว่าราชการทั้ง 78 จังหวัด เนื่องจากขณะนี้พบว่าเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยขึ้นกว่าอดีตและรุนแรงขึ้น กฟภ.จึงมีแนวคิดที่จะจัดซื้อรถโมบายล์ดีเซลซึ่งเป็นรถผลิตไฟเคลื่อนที่ขนาด 300-500 กิโลวัตต์เพิ่มอีกอย่างน้อย 30 คันจากที่มีอยู่ขณะนี้ 50 คัน หรือคิดเป็นงบประมาณราว 150 ล้านบาทเพื่อให้มีรถโมบายล์ 1 คันต่อจังหวัด จากขณะนี้เฉลี่ย 1 คันต่อ 6-7 จังหวัด
นายสมชัย จรุงธนะกิจ รองผู้ว่าการพัฒนาองค์กร กฟภ. กล่าวว่า การปรับเกณฑ์ดังกล่าวเป็นแนวคิดหลังจากเกิดปัญหากรณีการตัดไฟของชาวบ้านที่ จ.พิษณุโลกทำให้จุดเทียนแทนจนไฟไหม้บ้านทำให้เด็กเสียชีวิต 2 รายซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ กฟภ.กำลังพิจารณาระเบียบทั้งหมดเพื่อเสนอไปยังบอร์ด กฟภ.เห็นชอบ โดยเบื้องต้นมีข้อเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าไม่ต้องตัดไฟแต่ให้ประชาชนจ่ายดอกเบี้ยแทน
“เราซื้อไฟจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. หากจ่ายเงินช้าก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยแต่ละวัน กรณีการไม่ตัดไฟมีข้อเสนอว่าก็ให้จ่ายดอกเบี้ยแทนไป แต่ก็ต้องหารือว่าประชาชนจะยอมรับหรือไม่ ส่วนการเลิกจ้างเอกชนไปตัดมิเตอร์ระยะสั้นนี้คงเลิกยากเพราะ กฟภ.มีลูกค้า 16 ล้านครัวเรือนพนักงานเราไม่พอ” นายสมชัยกล่าว
สำหรับระยะยาว กฟภ.มีโครงการศึกษาการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟเป็นสมาร์ทมิเตอร์ซึ่งมีราคาแพงกว่า แต่มีข้อดีคือจะเป็นระบบส่งสัญญาณการใช้ไฟยิงตรงไปยัง กฟภ.เลย ซึ่งนอกจากจะลดคนไปจดมิเตอร์แล้วยังจะป้องกันปัญหาการมั่วจดมิเตอร์ด้วย โดยเร็วๆ นี้ กฟภ.จะนำร่องที่พัทยาก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา กฟภ.ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่ประตูระบายน้ำและอ่างเก็บน้ำกรมชลประทานระยะที่ 2 (ปี 2557-2559) รวม 6 แห่ง จากระยะที่ 1 อยู่ระหว่างออกแบบก่อสร้าง 15 แห่ง กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 1,150 ล้านบาท