“โออิชิ” ผนึก “เอฟแอนด์เอ็น” รุกตลาดอาเซียน ประเดิมมาเลเซียเป็นฐานที่มั่น ต่อยอดบรูไน สิงคโปร์ และเอเชีย ดันชาเขียวโออิชินำร่องก่อน ตลาดศักยภาพดี ผ่านเครือข่ายแข็งแกร่งของเอฟแอนด์เอ็น เล็งผลิตแบบกระป๋อง ลุยสแน็ก ร้านอาหารญี่ปุ่น หวังสัดส่วนรายได้ ตปท.ปีหน้า 10%
นายแมทธิว กิจโอธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โออิชิได้สรุปแผนการทำธุรกิจร่วมกันกับทางบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีซ โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด ประเทศมาเลเซีย เรียบร้อยแล้วหลังจากที่เอฟแอนด์เอ็นได้เข้ามาเป็นบริษัทในกลุ่มของไทยเบฟ โดยเบื้องต้นจะใช้ฐานที่มั่นในมาเลเซียรุกตลาดมาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ก่อน และตามต่อด้วยตลาดอาเซียนและเอเชีย ขณะที่ตลาดยุโรปและอเมริกานอกจากเอเชียก็มีบริษัทไทยเบฟอินเตอร์เนชั่นแนลรับผิดชอบอยู่แล้ว
เบื้องต้นจะนำสินค้าชาเขียวโออิชิเข้าไปเปิดตลาดก่อน ในอนาคตจะตามด้วยโออิชิ ฟรุตโตะ ชาคูลซ่าส์ รวมทั้งอาจจะเห็นสินค้าใหม่ๆ และอาหารด้วย เนื่องจากตลาดเครื่องดื่มในมาเลเซียที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท แต่เป็นตลาดชาพร้อมดื่มประมาณ 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้นเอง ขณะที่ไทยมีมูลค่าตลาดเครื่องดื่มไม่รวมแอลกอฮอล์ประมาณ 140,000 ล้านบาท และเป็นตลาดชาเขียวประมาณ 14,000 ล้านบาท และการดื่มชาเขียวพร้อมดื่มของคนมาเลเซียยังต่ำอยู่ที่ 0.94 ลิตรต่อคนต่อปีเท่านั้น ขณะที่คนไทยดื่มที่ประมาณ 5.8 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งตลาดมาเลเซียโดยรวมยังเล็กกว่าไทยอีกมากจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีก
“มาเลเซียเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง แม้จะมีประชากรแค่ 29 ล้านคน แต่ก็เป็นฐานที่เราจะเจาะตลาดขยายไปยังบรูไนและสิงคโปร์ได้อย่างดี และมาเลเซียมีคนอายุ 15-39 ปีที่เป็นเป้าหมายหลักในมาเลเซียมีมากถึง 44% ของประชากรทั้งหมด และกว่า 72% อาศัยอยู่ในเมือง มีรายได้ประมาณ 30,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ถือว่ามีกำลังซื้อสูงมาก และเราขายที่มาเลเซียขวดละ 26 บาท แต่ขายที่ไทยได้แค่ 13 บาท ได้ราคาดีกว่ากันเยอะเลย”
ขณะที่ศักยภาพของเอฟแอนด์เอ็นมีมาก เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย มีอายุมานานกว่า 130 ปี มีร้านค้ามากกว่า 72,000 แห่ง รถส่งสินค้า 411 คัน ตู้แช่จำนวน 60,000 ตู้ ตู้จำหน่ายอัตโนมัติอีก 5,100 ตู้ มีโรงงานผลิตเครื่องดื่มอีก 5 แห่ง โออิชิที่ขายในมาเลเซียมี 4 รสชาติ ขนาดใหม่คือ ขวดเพ็ต 380 มิลลิลิตร
ในเบื้องต้นนี้ทางโออิชิจะสนับสนุนงบการตลาดรวม 100 ล้านบาทในปีแรก และเริ่มวางจำหน่ายที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในมาเลเซียแห่งเดียวก่อน เริ่มเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ที่ผ่านมาจำนวน 200 กว่าสาขาแล้ว จากจำนวนทั้งหมด 1,460 สาขาทั่วประเทศ คาดว่าจากนี้อีก 3 เดือนจะเข้าครบทุกสาขา และแผนต่อไปจะเข้ามินิมาร์ทในปั๊มน้ำมัน และคอนวีเนียนสโตร์อื่นอีก 4 แบรนด์ใหญ่ รวม 3,800 สาขา และตามด้วยซูเปอร์มาร์เกต และไฮเปอร์มาร์ท
ทังนี้ บริษัทฯ วางเป้าหมายรายได้ปีแรกจากโออิชิผ่านเอฟแอนด์เอ็นประมาณ 140 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมปีนี้ของโออิชิกรุ๊ปมีประมาณ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเครื่องดื่มประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท และอาหารประมาณ 9,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากต่างประเทศประมาณ 7-10% เพิ่มจากปีที่แล้วที่มี 3%
ดาโต๊ะ อึ้ง จุย เซีย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีซ โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด ประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่า ตลาดชาพร้อมดื่มในมาเลเซียกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มาแรงทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันในตลาดชาพร้อมดื่มในมาเลเซียมีเพียง 3% ของตลาดเครื่องดื่มทั้งหมด แบ่งเป็นชาดำ 54% ชาเชียว 41% และอื่นๆ 5% โดยที่ตลาดชาเขียวนั้นมีแบรนด์ซีซัน ซึ่งเป็นของเอฟแอนด์เอ็น ครองตลาดอันดับหนึ่งอยู่แล้ว วางตำแหน่งเป็นชาคุณภาพตะวันตก ดังนั้นการที่เราได้แบรนด์โออิชิมาจำหน่ายเพิ่มอีกก็จะทำให้เราเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอชาได้อย่างดี เพราะโออิชิเป็นชาเขียวที่วางตำแหน่งเป็นชาเขียวญี่ปุ่น หรือตะวันออก
“เรามีการศึกษาเหมือนกันว่าจะขยายพอร์ตโฟลิโอการร่วมมือกันครั้งนี้ไปยังตลาดสแน็ก ตลาดอาหาร และร้านอาหารด้วย ซึ่งโออิชิมีอยู่แล้ว เบื้องต้นเราก็วางแผนที่จะผลิตชาเขียวโออิชิแบบกระป๋องในมาเลเซียอีกด้วย คาดว่าต้องลงทุนเพิ่ม 50 ล้านบาท เริ่มผลิตได้ในปีหน้า เพราะแบบกระป๋องได้รับความนิยมสูงสุดในมาเลเซีย มีส่วนแบ่งมากกว่า 35% คาดว่าอีก 6 เดือนจากนี้จะยื่นขอจดสิทธิบัตรและยื่นขอฮาลาลด้วย
ตลาดชารวมในมาเลเซียมี 2 แบบใหญ่ คือ ชาพร้อมดื่ม โดยพ็อกก้าของซับโปโรเป็นผู้นำตลาดด้านชาเขียว ตามด้วยแบรนด์โย ส่วนชาดำ แบรนด์ซีซันเป็นผู้นำตลาด ตามด้วยแบรดนด์ลิปตัน ส่วนอีกกลุ่ม คือ ชาท้องถิ่นที่ชงขายตามร้านทั่วไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มเอฟแอนด์เอ็นถือว่าเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชาด้วยแชร์มากกว่า 32% แล้ว และมีเป้าหมายให้โออิชิเป็นผู้นำตลาดชาเขียวในมาเลเซียและในภูมิภาคนี้ต่อไปด้วย เช่นเดียวกับที่สินค้าในเครือของเอฟแอนด์เอ็นเป็นผู้นำในตลาดในหลายกลุ่มในมาเลเซียแล้วเช่น น้ำอัดลมแชร์ 28% ชาดำ แชร์ 32% และเครื่องดื่มพลังงานแชร์ 55% เป็นต้น รวมแชร์เครื่องดื่มทั้งหมดมากกว่า 27%