xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์คาดเงินลงทุนยังคงอยู่ในเอเชียต่อไปแม้เฟดชะลอ QE

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

          นักลงทุนในตลาดเอเชียกำลังเผชิญกับจุดหักเหครั้งใหญ่ที่สุดของตลาดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินปี 2008 เป็นต้นมา ซึ่งก็คือแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะถอนนโยบายผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษ ในเร็วๆนี้ 
          อย่างไรก็ดี นักลงทุนในตลาดเอเชียกำลังเลือกเพียงแค่ว่า จะเข้าซื้อสินทรัพย์ในเอเชียต่อไปหรือไม่เท่านั้น แต่นักลงทุนยังไม่ได้คิดที่จะเทขายสินทรัพย์เอเชียออกมาในขณะนี้
          เม็ดเงินดอกเบี้ยต่ำที่เฟดอัดฉีดเข้าสู่ระบบคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนสกุลเงิน, ตราสารหนี้ และหุ้นในตลาดเกิดใหม่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาและนักลงทุนส่วนใหญ่ก็เคยคาดการณ์ในช่วงก่อนหน้านี้ว่า การชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ จะส่งผลให้มีเงินลงทุนหลั่งไหลออกจากตลาดเกิดใหม่
          อย่างไรก็ดี ตัวเลขการเคลื่อนย้ายเงินทุนในเอเชียบ่งชี้ถึงความเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้าม โดยยังคงมีเงินลงทุนในพอร์ทหลั่งไหลเข้าสู่เอเชีย ขณะที่ได้รับแรงหนุนจากความหวังที่ว่า เฟดจะคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเฟดจะคุมเข้มนโยบายการเงิน ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่งมากพอที่จะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
          นายกาย สเตียร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยของธนาคารโซซิเอเต้ เจเนอราล  กล่าวว่า "เรายังไม่เห็นนักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนออกจากเอเชีย และจนถึงขณะนี้เราก็ยังไม่เห็นนักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนแม้แต่ภายในภูมิภาคเอเชียด้วย"
          ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า นักลงทุนกำลังปรับเปลี่ยนสถานะการลงทุนขนาดใหญ่ นอกจากการทำประกันความเสี่ยงสำหรับกรณีที่เฟดจะปรับลดวงเงินในการเข้าซื้อตราสารหนี้ในอัตรา 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในอนาคต โดยมาตรการเข้าซื้อนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (QE3)
          นักวิเคราะห์แนะนำการลงทุนแบบ "ปลอดภัย" เช่น การเข้าซื้อสัญญาคุ้มครองสกุลเงินที่จะได้รับความเสียหายจากการแข็งค่าของดอลลาร์ เช่น สกุลเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย และวอนของเกาหลีใต้ โดยตลาดสัญญาฟอร์เวิร์ดสกุลเงินสองสกุลนี้ ปรับตัวสอดคล้องกับกระแสการทำประกันความเสี่ยงในสกุลเงินดังกล่าวในระยะนี้
          นายเมอร์ซา เบก หัวหน้าฝ่ายแผนยุทธศาสตร์สกุลเงินและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ กล่าวว่า "การที่นักลงทุนดำเนินการเชิงรุกมากยิ่งขึ้นในการทำประกันความเสี่ยงด้านสกุลเงิน แสดงให้เห็นว่าตลาดเริ่มพิจารณาค่าดอลลาร์ในแบบที่แตกต่างไปจากเดิม"
          หลังจากนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ได้กล่าวถึงการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสัปดาห์ก่อน ตลาดเอเชียก็ยังคงมีเงินลงทุน ไหลเข้าในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ยกเว้นตลาดจีน
        นักยุทธศาสตร์การลงทุนกล่าวว่า ในการปรับสถานะการลงทุนเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากเฟดนั้น นักลงทุนควรขายสินทรัพย์ที่จะได้รับความเสียหายจากการปรับเปลี่ยนนโยบายในสหรัฐ และควรหลีกเลี่ยงสินทรัพย์ที่อาจได้รับความเสียหายจากภาวะอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนด้วย 
          สินทรัพย์ที่ควรขายนี้รวมถึงสกุลเงินอย่างเช่นดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยนักลงทุนเคยเข้าซื้อดอลลาร์ออสเตรเลียในช่วงก่อนหน้านี้ เพราะเป็นสกุลเงินที่มีอัตราผลตอบแทนสูง และเป็นสกุลเงินที่มักได้รับผลกระทบจากจีน เนื่องจากจีนต้องการซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ของออสเตรเลียเป็นจำนวนมาก
          สินทรัพย์ที่ควรขายนี้รวมถึงตราสารหนี้เอเชียที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงและอยู่ในรูปดอลลาร์ เพราะอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ประเภทนี้มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ นอกจากนี้ นักลงทุนควรขายหุ้นที่ให้เงินปันผลสูงด้วย หลังจากที่หุ้นกลุ่มนี้เคยเป็นกันชนที่ดีในช่วงที่อัตรา ผลตอบแทนทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ
          เริ่มมีสัญญาณบ่งชึ้ถึงการเทขายสินทรัพย์ประเภทนี้แล้ว โดยดอลลาร์ออสเตรเลียได้ลงไปแตะจุดต่ำสุดรอบ 19 เดือนในระยะนี้ ในขณะที่พันธบัตรฟิลิปปินส์ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2037 มีอัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้น 0.65 % สู่ 4.2 % ในสัปดาห์นี้
          ดัชนี MSCI สำหรับหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคในเอเชีย ซึ่งรวมถึงหุ้นที่ให้เงินปันผลสูง ดิ่งลงมาแล้วกว่า 6 % จากช่วงต้นเดือนนี้
          อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่ม "วัฏจักรเศรษฐกิจ" ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มธนาคารและหุ้นบริษัทสาธารณูปโภคบางแห่งที่มักได้รับผลดีจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังคงมีมูลค่าต่ำในขณะนี้ และสิ่งนี้บ่งชี้ว่านักลงทุนไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนเทขายหุ้นกลุ่มนี้ออกมา
          ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า มีโอกาสที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังคงพุ่งขึ้นในอัตราที่แข็งแกร่งกว่าพันธบัตรด้วย ถ้าหากเฟดส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่าเฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน, ถ้าหากเฟดปรับลดมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และถ้าหากเฟดรับประกันว่าผลกำไรภาคเอกชนจะต้องฟื้นตัวขึ้นก่อนที่เฟดจะปรับลด QE
          นายมาร์คัส รอสเกน นักยุทธศาสตร์การลงทุนของซิตี้กรุ๊ปกล่าวว่า ผู้จัดการพอร์ทลงทุนทั่วโลกกำลังปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะในเอเชียอยู่แล้วในช่วงนี้ ดังนั้นนักลงทุนอาจจะไม่จำเป็นต้อง ปรับลดการลงทุนในเอเชียลงไปมากกว่านี้อีก
          นายรอสเกนกล่าวว่า หุ้นบางกลุ่ม อย่างเช่นหุ้นกลุ่มการเงินของสิงคโปร์และจีน, หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในเอเชียเหนือ และหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมมีราคาที่ถูกมาก และราคาหุ้นกลุ่มนี้ยังไม่ได้ปรับตัวรับการคาดการณ์เรื่อง ผลกำไรในช่วงหลายปีข้างหน้า และสิงนี้บ่งชี้ว่า นักลงทุนอาจคาดการณ์ ในทางลบมากเกินไปต่อหุ้นกลุ่มนี้
          สินทรัพย์เอเชียที่เผชิญความเสี่ยงมากที่สุดจากการชะลอ QE คือ ตราสารหนี้ โดยกระแสเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่าตลาดหุ้นเป็นอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
          กระแสเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่พันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปีนี้ หลังจากมีเงินไหลเข้า 5 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2012 ขณะที่นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซีย ราว 34 % ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุด และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอินโดนีเซียดิ่งลงสู่ระดับต่ำกว่า 1 ใน 3 ของระดับในปี 2008 นอกจากนี้ ต่างชาติยังถือครองพันธบัตรรัฐบาลมาเลเซียราว 36 % ในเดือนมี.ค.ด้วย
          รัฐบาลและภาคเอกชนในเอเชียฉวยโอกาสกู้ยืมเงินจำนวนมากในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในสกุลเงินยูโร, เยน และดอลลาร์อยู่ในระดับต่ำ โดยกู้ยืมเงินสูงเป็นประวัติการณ์ราว 1.338 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2012 และ กู้ยืมเงินอีก 8.76 หมื่นล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปีนี้
          ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในฮ่องกงรายหนึ่งกล่าวว่า "ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับลดความเสี่ยงทางการลงทุนลงมาบ้าง" และเขากล่าวเสริมว่า ตลาดตราสารหนี้ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกำลังเผชิญกับอันตราย เนื่องจาก นักลงทุนที่กู้เงินมาลงทุนกำลังได้รับความเสียจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ
          อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับใกล้ 2.2 % ในปัจจุบัน โดยพุ่งขึ้นมาแล้วราว 0.60 % จากช่วงต้นเดือนนี้
          เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนที่ต้องการลงทุนแบบปลอดภัยหันมาสนใจตราสารหนี้ที่ไม่มีความสัมพันธ์กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ อย่างเช่นตราสารหนี้อินเดีย และหันมาสนใจตราสารหนี้ของประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง อย่างเช่นออสเตรเลียกับเกาหลีใต้ด้วย
          อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนถอนเงินลงทุนออกจากเอเชียหรือไม่ คือการคาดการณ์เรื่องสกุลเงิน โดยต้นทุนในการทำประกันความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในตลาดอินโดนีเซียขณะนี้ อยู่ในระดับที่สูงกว่า ผลกำไรที่จะได้รับจากพันธบัตรอินโดนีเซีย
          นักวิเคราะห์หลายรายมีความเห็นตรงกันว่า ดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นในอนาคต โดยดอลลาร์อาจจะได้รับแรงหนุนจากการที่เฟดหันมาดำเนินนโยบายแบบสายเหยี่ยวมากยิ่งขึ้น หรือจากการที่นักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์ เสี่ยงถ้าหากเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง
        นายสเตียร์กล่าวว่า "สิ่งที่นักลงทุนกังวลก็คือเรื่องของสกุลเงิน มากกว่าเรื่องความสัมพันธ์ของอัตราดอกเบี้ย"
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น