xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News 31/05/56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



  • ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่า ภาวะตึงเครียดในระบบการเงินยูโรโซนได้บรรเทาลงแล้ว โดยเสถียรภาพการเงินเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในภาวะเปราะบาง  เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตอย่างอ่อนแอ และภาคธนาคารเผชิญความเสี่ยงหลายอย่าง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่


1) การที่ประสิทธิภาพการทำกำไรของธนาคารร่วงลงต่อไป 
2)  ภาวะตึงเครียดในตลาดพันธบัตรรัฐบาล 
3)  ธนาคารพาณิชย์ประสบความยากลำบากในการระดมทุนในประเทศที่ได้รับแรงกดดัน
4) ค่าพรีเมียมความเสี่ยงในตลาดโลกได้รับการประเมินใหม่ หลังจากนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเป็นเวลานาน และแสวงหาการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง 

  • นายกฯ เอ็นริโก เลตตา ของอิตาลี แสดงความพอใจกับคำแนะนำของคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ให้มีการถอดชื่ออิตาลีออกจากบัญชีดำกลุ่มประเทศที่มียอดขาดดุลมากเกินไป ทั้งนี้ การที่จะถูกถอดจากบัญชีดำดังกล่าว อิตาลีต้องควบคุมยอดขาดดุลสาธารณะไม่ให้เกิน 3.0% ของ GDP เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ขณะที่อิตาลีคาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ระดับ 2.9% ในปีนี้  



  • ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของอิตาลีในเดือนเม.ย.  ลดลง 0.4% จากเดือนก่อน และลดลง 1.0% จากปีก่อนหน้า ซึ่งนับว่าเป็นการดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2009    



  • ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของ GDP ที่แท้จริงของสหรัฐประจำไตรมาส 1/2556 ขยายตัว 2.4% ซึ่งลดลงจากที่ประมาณการไว้ครั้งแรกว่าขยายตัว 2.5% สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐโดยอัตโนมัติ (sequestration)



  • จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 พ.ค. เพิ่มขึ้น 10,000 ราย สู่ระดับ 354,000 ราย ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 340,000 ราย ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานติดต่อกันโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 6,750 ราย



  • นายอีริก โรเซนเกรน ประธาน Fed สาขาบอสตัน เปิดเผยว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐและเศรษฐกิจโดยรวมอาจมีความแข็งแกร่งเพียงพอภายในระยะเวลา 2-3 เดือนเพื่อเปิดทางให้ Fed ปรับลดการซื้อพันธบัตรลงเล็กน้อยตามมาตรการ QE อย่างไรก็ตาม หาก Fed ยุติมาตรการโดยสิ้นเชิง จะเป็นการเร็วเกินไปสำหรับเวลานี้ 



  • Fitch rating กล่าวว่า รัฐส่วนใหญ่ในสหรัฐจะมีเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นต่อไปในอัตราต่ำในปีงบประมาณ 2014 ที่ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 ก.ค. ขณะที่มาตรการต่างๆ ในงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐ และการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ จะสร้างความไม่แน่นอนให้แก่งบประมาณของรัฐหลายรัฐ 



  • ผู้แทน OPEC กล่าวว่า การประชุมประเทศสมาชิก OPEC 12 ประเทศ ในสัปดาห์นี้ จะยังคงตรึงเป้าหมายการผลิตน้ำมันไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อไป เนื่องจากราคายังคงอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล และไม่ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ 



  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ระบุว่า จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจำนวน 8-10 ชุด ภายในเดือนหน้า คิดเป็นวงเงินรวมมากกว่า 7 ล้านล้านเยน 



  • วันศุกร์นี้ให้ติดตามการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนเม.ย.ของญี่ปุ่น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจอยู่ที่ -0.4% แต่อาจจะกลับมามีค่าเป็นบวกในช่วงต่อไปในปีนี้ และอาจอยู่ที่ระดับ 0.3% สำหรับช่วงปีงบประมาณ 2013/2014  



  • เดวิด ลิปตัน รองผอ. IMF กล่าวว่า หนี้สินรัฐบาลจีนได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับเกือบ 50% ของ GDP แต่ยังคงสามารถควบคุมได้ 



  • ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในบรรดากลุ่มบริษัทผู้ผลิตของเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้นในเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมาก แต่ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจของประเทศ



  • สศค.คาดว่า จะปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยในปีนี้ลงต่ำกว่าเดิมที่ 5.3% ในการทบทวนการคาดการณ์เศรษฐกิจเดือนมิ.ย. หลัง GDP ไตรมาสแรกที่ผ่านมา ขยายตัวได้น้อยกว่าคาดและเศรษฐกิจโลกแผ่วลงค่อนข้างชัดเจน ซึ่งกระทบต่อการส่งออกของไทย นอกจากนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนเม.ย. บ่งชี้ถึงสัญญาณการชะลอตัวต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/2556



  • กระทรวงพาณิชย์ ปรับลดตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.เหลือ 17,409 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการเติบโต 2.89% จากปีก่อน ซึ่งลดลงจากตัวเลขที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า มีมูลค่า 18,699 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.52% เนื่องจากมีความคลาดเคลื่อนของตัวเลขการส่งออกไปฮ่องกง ที่เดิมระบุว่ามีมูลค่า 2,177ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ข้อมูลที่ถูกต้องมีเพียง 887 ล้านเหรียญสหรัฐ 



  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของอาเซียนกับไทยในช่วงไตรมาส 1/2556 พบว่า ไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 41,193 ล้านบาท โดยสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตาล ยางพารา ข้าว และวัตถุดิบอาหารสัตว์



  • กระทรวงการคลังเตรียมแก้ไขประกาศการดูแลเงินทุน เพื่อให้ ธปท. มีเครื่องมือดูแลค่าเงินบาท ซึ่งมีประเด็นดังนี้



 

  • SET Index ปิดที่ 1,581.32 จุด ลดลง -20.29 จุด หรือ -1.27% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 57,710 ล้านบาท ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากวันก่อนตามตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีผลมาจากดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปรับลดลงจากความกังวลธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตร นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจยุโรปที่ส่งผลในเชิงลบ



  • ดัชนีนิกเกอิทรุดลงกว่า 5% ต่ำกว่าระดับ 14,000 จุด จากการร่วงลงของค่าเงินดอลลาร์แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.เมื่อเทียบกับเยน  ซึ่งได้ถ่วงหุ้นกลุ่มส่งออกของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การแข็งค่าของเงินเยนเป็นเพียงเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้มีแรงขายออกมาอีก แต่ความวิตกพื้นฐานที่อยู่ในความคิดของนักลงทุนคือ ความเป็นไปได้ ที่ Fed จะยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ 




  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นในตราสารอายุ 5 ปีขึ้นไป ในช่วง +0.02% ถึง +0.07% จากแรงขายของนักลงทุนบางส่วนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ จากการที่ตลาดกังวลว่า Fed อาจจะชะลอมาตรการ QE โดยลดขนาดการซื้อคืนพันธบัตรลง เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีกว่าที่คาดการณ์



  • ธนาคารกลางบราซิลปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% เป็น 8% เพื่อพยายามจะควบคุมเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บราซิลถือเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ชาติ (จี20) ที่ธนาคารกลางตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยในเดือนที่ผ่านมาหลายประเทศ รวมถึง อิสราเอล สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และอินเดีย ต่างพากันปรับลดต้นทุนการกู้ยืมลงมา 


กำลังโหลดความคิดเห็น