xs
xsm
sm
md
lg

ความคาดหมายการประชุมของโอเปกว่าจะคงโควต้าผลิตน้ำมันพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

          เทรดเดอร์น้ำมันไม่มีสิ่งใดต้องกังวลกับการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในวันพรุ่งนี้ที่กรุงเวียนนา ในขณะที่มีแนวโน้มว่าโอเปกจะคงนโยบายการผลิตไว้ตามเดิม
          ผู้แทนโอเปกกล่าวว่า การประชุมประเทศสมาชิกโอเปก 12 ประเทศ ในสัปดาห์นี้ จะยังคงตรึงเป้าหมายการผลิตน้ำมันไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อไป
          ผู้แทนคนหนึ่งกล่าวว่า "ราคายังคงอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล และ ไม่ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าจะมีการคงเพดานการผลิตอย่างเป็นทางการไว้ที่ระดับปัจจุบันต่อไป และจะมีการปรับเปลี่ยนปริมาณ การผลิตอย่างไม่เป็นทางการ ถ้าหากมีความจำเป็น"
          ซาอุดิอาระเบียจะยังคงเป็นผู้ชี้นำในด้านการจัดการตลาดน้ำมันในระยะสั้น
          ซาอุดิอาระเบียเคยผลิตน้ำมัน 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2012 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี แต่ได้ปรับลดปริมาณการผลิตลงสู่ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวันใน เดือนเม.ย. ส่งผลให้ปริมาณการผลิตของโอเปกอยู่ที่   30.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบของโอเปกสำหรับช่วงครึ่งปีหลัง
          สาเหตุหนึ่งที่ทำให้โอเปกอาจตัดสินใจดังกล่าวเป็นเพราะราคาน้ำมันดิบเบรนท์ขณะนี้อยู่ใกล้กับระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ซาอุดิอาระเบียชื่นชอบ โดยถึงแม้ว่าระดับ 100 ดอลลาร์นี้อาจถือว่าแพงเมื่อเทียบกับมาตรฐานในอดีต แต่ก็อยู่ต่ำกว่าระดับ 125 ดอลลาร์ที่เคยสร้างความกังวลให้แก่ประเทศผู้ใช้น้ำมันในปีที่แล้ว
          การปฏิวัติการผลิตน้ำมันจากหินดินดานในสหรัฐ ได้ช่วยสร้างความหวัง ให้แก่บรรดาประเทศผู้ใช้น้ำมัน โดยมีการตั้งความหวังกันว่า การพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาเชื้อเพลิงในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อาจจะใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว  
          ราคาน้ำมันในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 4 เท่าในช่วง10 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 25 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2002 สู่สถิติสูงสุดที่ 111 ดอลลาร์ในปี 2012 ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงมาแล้ว เล็กน้อยในปีนี้ โดยอยู่ที่ระดับใกล้ 102 ดอลลาร์ในวันศุกร์ที่แล้ว
          สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ในช่วงต้นเดือนนี้ว่า อุปทานหินดินดานในสหรัฐจะช่วยตอบสนองอุปสงค์ใหม่ส่วนใหญ่ในตลาดโลกในช่วง 5 ปีข้างหน้า ดังนั้นถ้าหากกลุ่มโอเปกเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันก็มีความเป็นไปได้สูงที่ราคาน้ำมันจะดิ่งลง
          นายชาคิบ เคลิล ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีน้ำมันของแอลจีเรีย ในปี 1999-2010 กล่าวว่า "โอเปกตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเพราะอุปสงค์ในน้ำมันโอเปกได้ลดน้อยลง ขณะที่ประเทศนอกกลุ่มโอเปก ทำหน้าที่ตอบสนองอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก แทนที่จะเป็นโอเปก"
          นายคริสตอฟ รูห์ล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทบีพี กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันในอเมริกาเหนือจะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันโอเปกลดลงจนถึงช่วงสิ้นทศวรรษนี้ และส่งผลให้กำลังการผลิตส่วนเกินของโอเปกเพิ่มสูงขึ้น
          กลุ่มโอเปกเคยแสดงท่าทีไม่ใส่ใจต่อภาวะเฟื่องฟูในธุรกิจหินดินดานเมื่อหนึ่งปีก่อน โดยนายฮานิ ฮุสเซน รมว.น้ำมันคูเวตกล่าวในช่วงนั้นว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะ "รอดูผลการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อจะได้ทำความเข้าใจ ที่ดียิ่งขึ้นต่อผลกระทบจากหินดินดาน" ทางด้านนายราฟาเอล รามิเรซ รมว.น้ำมันเวเนซุเอลา กล่าวว่า "ผมไม่กังวลกับเรื่องนี้เลย เพราะเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น"
          อย่างไรก็ดี เมื่อถึงช่วงสิ้นปี 2012 สหรัฐได้เพิ่มการผลิตน้ำมัน ในปริมาณที่สูงที่สุด นับตั้งแต่สหรัฐเริ่มต้นผลิตน้ำมันเป็นครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษ 1860 เป็นต้นมา โดยปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐเพิ่มขึ้น   850,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2012 และปริมาณนี้สูงกว่าปริมาณการผลิตของกาตาร์และเอกวาดอร์รวมกัน 
          กาตาร์และเอกวาดอร์เป็นสองประเทศที่ผลิตน้ำมันน้อยที่สุดในกลุ่มโอเปก ส่วนสหรัฐเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันมากที่สุดในโลก โดยใช้น้ำมันในปริมาณที่สูงกว่าจีนซึ่งครองอันดับ 2 เป็นอย่างมาก
          ถึงแม้การผลิตน้ำมันจากหินดินดานในบางพื้นที่ของสหรัฐ ติดอันดับการผลิตน้ำมันที่ใช้ต้นทุนสูงที่สุดในโลก แต่ซาอุดิอาระเบียก็ไม่แสดงสัญญาณว่าจะพยายามกีดกันหินดินดานออกจากตลาด ถึงแม้ซาอุดิอาระเบียสามารถทำเช่นนั้นได้ด้วยการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันของตนเอง เพื่อกดดันราคาน้ำมันให้ร่วงลงจนถึงระดับที่ทำให้การผลิตน้ำมันจากหินดินดานกลายเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ
          ในทางตรงกันข้าม นายอาลี อัล-ไนมี รมว.น้ำมันซาอุดิอาระเบีย กล่าวในเดือนเม.ย.ว่า การที่อุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐอยู่ในภาวะ เฟื่องฟูในขณะนี้ ถือเป็น "ข่าวดี"
          หินดินดานส่งผลกระทบมากที่สุดต่อประเทศสมาชิกโอเปกที่พึ่งพา การส่งออกน้ำมันจำนวนมากไปยังงสหรัฐ โดยเฉพาะไนจีเรียและแอลจีเรีย
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น