คมนาคมทำแผนระยะสั้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอ “นายกฯ” 30 พ.ค.นี้ เน้นขยายถนน ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายที่มักถูกดักซุ่มโจมตีและลอบวางระเบิด คาดเบื้องต้นลงทุนกว่า 9 พันล้านบาท
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมหารือจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดทั้งกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมเจ้าท่า (จท.) กรมการบินพลเรือ (บพ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน วานนี้ (27 พ.ค.) ว่า เบื้องต้นได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการต่างๆ เป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว เช่นการปรับปรุงถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเพื่อนำเสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้
ทั้งนี้ จากที่คณะทำงานขับเคลื่อนการบริหารงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้ากลุ่มได้ประชุมร่วมกับองค์กรท้องถิ่น ประชาชน และหอการค้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา ได้มีการเสนอแผนปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในพื้นที่ เช่น การเพิ่มช่องจราจร, ปรับปรุงมาตรฐานทางเป็นชั้น 1 เพื่อให้ไหล่ทางกว้างมากขึ้น, ก่อสร้างทางหนา 25 ซม.คลุมหลังท่อลอดใต้ถนน ก่อนปูทับด้วยแอสฟัลต์เพื่อให้ยากต่อการขุดเจาะฝังระเบิด, ดูแลตัดต้นไม้ พุ่มไม้สองข้างทางให้โล่ง เพื่อง่ายต่อการตรวจตราระวังป้องกันภัย เป็นต้น
โดยแผนระยะสั้นกรมทางหลวงจะมีการพัฒนาถนน 5 เส้นทาง และ 1 กิจกรรม (งานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย) ค่าก่อสร้างประมาณ 2,323 ล้านบาท โดยเป็นเส้นทางที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้าย ดักซุ่มโจมตีและลอบวางระเบิด เช่น ทางหลวงหมายเลข 4063-4066 (อ.เมืองยะลา-อ.รือเสาะ) ทางหลวงหมายเลข 4060-4169-4136 (แยกตะโล๊ะหะลอ-อ.กะพ้อ-เทศบาลตำบลต้นไทร-บาเจาะ-สนามบินบ้านทอน เป็นต้น ส่วนกรมทางหลวงชนบทเสนอก่อสร้าง, พัฒนาปรับปรุงถนนและติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก วงเงินรวม 6,451 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้ให้ปรับลดโครงการลง โดยจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนทำให้เหลือวงเงินลงทุนประมาณ 2,500 ล้านบาท
ส่วนข้อเสนอของหอการค้าในพื้นที่ในการขยายโครงการรถไฟทางคู่จากหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก วงเงินลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาทนั้น ทาง รมว.คมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความต้องการด้านการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าเส้นทางเดี่ยวในปัจจุบันยังรองรับความต้องการได้เพียงพอ