xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเบฟนำร่องดันโออิชิ-เหล้าผ่าน F&N ลุย “มาเลย์-สิงคโปร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารของกลุ่มไทยเบฟ
ไทยเบฟเตรียมผนึกกำลังกับเอฟ แอนด์ เอ็น ส่งออกสินค้าในเครือ ประเดิมชาเขียวโออิชิแบบขวดเพ็ท และสุรา ไตรมาสสามนี้ตั้งเป้าสิ้นปีโตอีก 20% จาก 1.5 แสนล้านบาท ไม่รวมเอฟแอนด์เอ็น ด้านเอฟ แอนด์ เอ็นมุ่งส่งออกไปยังอินโดไชน่า แอฟริกา และมิดเดิลอีสต์ ส่วนในไทยเดินหน้าเต็มตัวสู่เป้า 20,000 ล้านบาทในปี 60

นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายบริหารการตลาด บริษัท  ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยเบฟได้ซื้อกิจการ บริษัท เอฟ แอนด์ เอ็น เข้ามาอยู่ในเครือเรียบร้อยแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ในช่วงการศึกษาที่จะผนึกกำลังทางธุรกิจ วางนโยบายเพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจในอนาคต เบื้องต้นทางเอฟ แอนด์ เอ็นยังคงดำเนินธุรกิจไปตามนโยบายเดิมและทางไทยเบฟไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เพียงแต่มองหาความแข็งแกร่งของกันและกันเพื่อเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะทางด้านส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะเอฟ แอนด์ เอ็นถือเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งในมาเลเซีย สิงคโปร์ และพม่า ที่จะช่วยบุกตลาดอาเซียนได้เป็นอย่างดี 

จากความแข็งแกร่งของเอฟ แอนด์ เอ็น ในมาเลเซีย และสิงคโปร์ เบื้องต้นในไตรมาสสามนี้ทางบริษัทเตรียมส่งออกผลิตภัณฑ์ชาเขียวโออิชิในรูปแบบขวดเพ็ทเข้าไปจำหน่ายที่มาเลเซีย รวมถึงสุราอีก 1 แบรนด์ ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะนำแบรนด์ใดส่งออกไปยัง 2 ประเทศนี้ ส่วนความแข็งแกร่งของทางไทยเบฟ อย่างด้านลอจิสติกส์ในประเทศ
จะเป็นส่วนสำคัญของการกระจายสินค้าให้เอฟ แอนด์ เอ็น ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่องทางตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ทั้งนี้ บริษัทมีการส่งออกเบียร์ไปบ้างแล้วราว 50 ล้านลิตรต่อปีใน 36 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นรายได้กว่า 10% ของรายได้รวม 

อย่างไรก็ตาม การที่จะนำผลิตภัณฑ์ส่งออกไปต่างประเทศนั้น จะเริ่มจากประเทศที่บริษัทมีความแข็งแกร่ง ก่อนจะขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน  โดยจะต้องคำนึงถึง 3 ข้อหลักด้วย คือ 1. ผลิตภัณฑ์นั้นต้องเหมาะสมกับประเทศนั้นๆ และไม่ทับซ้อนกับเอฟ แอนด์ เอ็นที่ทำตลาดอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีไลน์สินค้านั้นวางจำหน่ายอยู่ 2. ความแข็งแกร่งทางด้านช่องทางจำหน่ายในประเทศนั้นๆ และ 3. มูลค่าและความต้องการของตลาด รวมถึงฐานประชากรที่เหมาะสมต่อการเข้าไปทำตลาด 

นายมารุตกล่าวต่อว่า สำหรับแผนการลงทุนของไทยเบฟในปีนี้ จะเป็นในส่วนของโออิชิ ทั้งในเรื่องของการขยายกำลังการผลิต และครัวกลาง ขณะที่เอฟ แอนด์ เอ็น มีโรงงานอยู่แล้ว และไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งการรวมรายได้ในปีนี้เชื่อว่าทั้งกลุ่มจะมีรายได้เติบโตขึ้น 10-20% (ไม่รวมเอฟ แอนด์ เอ็น) จากมูลค่ารวมปีก่อนที่ทำไว้กว่า 1.5 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็นกลุ่มแอลกอฮอล์ 80% และนอนแอลกอฮอล์ 20% ซึ่งตามแผนการดำเนินงานต้องการเพิ่มสัดส่วนนอนแอลกอฮอล์ให้เป็น 30% ขณะที่มูลค่ารายได้ของเอฟ แอนด์ เอ็นในไทยปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันไทยเบฟมีบริษัทในเครืออีก คือ โออิชิ เสริมสุข และล่าสุดคือ เอฟ แอนด์ เอ็น  

**F&N ใส่เกียร์ลุย ตปท.เต็มสูบ

นายจิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้จัดการประจำกลุ่มประเทศอินโดไชน่า บริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปีนี้ทางบริษัทจะให้ความสำคัญต่อการนำผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแคนมิลค์ส่งออกไปต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดไชน่า ที่ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม

โดยเฉพาะในพม่าและเวียดนามนั้นเริ่มเข้าไปทำตลาดตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งในเวียดนามจะใช้ตัวแทนจำหน่ายของทางเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เป็นผู้จัดจำหน่ายให้ ส่วนอีก 3 ประเทศที่เหลือเป็นการตั้งตัวแทนจำหน่าย โดยปีนี้ในส่วนของเวียดนามจะเริ่มเข้าไปรุกตลาดทางเวียดนามตอนบนมากขึ้น ในเมืองไทอัน โดยยังคงให้กลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ไปทำตลาดให้ เชื่อว่าถึงสิ้นปีนี้รายได้จากกลุ่มประเทศเหล่านี้จะเพิ่มเป็น 1,500 ล้านบาท จากเดิมปีก่อนมีรายได้ราว 1,000 ล้านบาท

ด้านนางปาริชาติ ธีระศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์ บริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ตลาดต่างประเทศในภูมิภาคอื่นๆ นั้นปีนี้จะเริ่มทำตลาดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในแถบทวีปแอฟริกา และมิดเดิลอีสต์ ทั้งในส่วนของแบรนด์เอฟแอนด์เอ็น และโออีเอ็มให้ลูกค้า รวมถึงของเนสท์เล่ด้วย เช่น ทีพอท, เอฟ & เอ็น, คาร์เนชั่น และตราหมี เป็นต้น คาดว่าในปีแรกนี้จะมีรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท หรือถึงสิ้นปีนี้กลุ่มส่งออกทั้งหมดน่าจะมีรายได้กว่า 2,500 ล้านบาท

นายจิรวัฒน์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันฐานผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์นมในไทยของเอฟแอนด์เอ็นจะทำตลาดสนับสนุนกลุ่มประเทศอาเซียนทางฝั่งเหนือ ส่วนอาเซียนทางฝั่งใต้จะเป็นของฐานผลิตที่มาเลเซีย ซึ่งในส่วนของมาเลเซียนั้นมีการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตอีกเท่าตัว หรือเพิ่มเป็น 2,400 ล้านกระป๋อง/ปี ถึงเวลานั้นจะทำให้แบรนด์เอฟแอนด์เอ็นเป็นผู้ผลิตแคนมิลค์ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกทันที

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยนั้น หลังการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของทางไทยเบฟแล้ว ปัจจุบันยังคงดำเนินธุรกิจตามนโยบายเดิมอยู่ เชื่อว่าหลังการควบรวมจะมุ่งหาการผนึกกำลังและการได้ประโยชน์ในอนาคตเป็นหลัก โดยเฉพาะทางด้านดิสทริบิวเตอร์ และลอจิสติกส์ที่ทางไทยเบฟมีความแข็งแกร่ง

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อแตกไลน์สินค้าใหม่เพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้นี้ โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีนับจากปีนี้จะมีรายได้เพิ่มเป็นเท่าตัว หรือภายในปี 2560 จะมีรายได้รวมกว่า 20,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นในประเทศ 80% และต่างประเทศ 20% หรือกลุ่มส่งออกรวมกันน่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น