ASTVผู้จัดการรายวัน - “ยันฮี” มั่นใจ ปี 56 รายได้ 1,500 ล้านบาท หลังใช้งบลงทุนต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีกว่า 1 พันล้านบาท เตรียมทุ่ม 400 ล้านบาท พื้นที่ 14 ไร่ขยายอาคารใหม่อีก รองรับความต้องการตลาดรักษาโรคทั่วไปและทำความงาม จี้รัฐแก้ระเบียบข้อห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์ หวังดันไทยเป็นเมดิคัลฮับอาเซียน
นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี เปิดเผยว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลมีการขยายงานอย่างต่อเนื่องโดยมีการก่อสร้างอาคารใหม่ 2 อาคาร พร้อมทั้งจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์สมัยใหม่เพิ่มขึ้นรวมเป็นงบประมาณกว่า 1,100 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันโรงพยาบาลมีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย 400 เตียง ขณะที่มีแพทย์ พยาบาล และบุคลากร รวมทั้งสิ้น 2.2 พันคน โดยในอนาคตยังมีแผนที่จะขยายการก่อสร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีกในบริเวณใกล้เคียงกับโรงพยาบาลซึ่งยังคงมีพื้นที่ว่างอีก 14 ไร่ โดยคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำ 400 ล้านบาท
“ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันจำเป็นต้องแข่งขันกับตัวเองในการเพิ่มศักยภาพด้านต่างๆ รวมถึงการบริการ ตลอดจนอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งยันฮีให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ และมีการลงทุนเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุดในช่วงต้นปี 2556 ได้มีการจัดซื้อเครื่องมือผ่าตัดเพิ่มขึ้นอีกด้วยงบประมาณ 200 ล้านบาท”
ในส่วนการให้บริการรักษาพยาบาลของยันฮียังคงเน้นเรื่องการรักษาพยาบาลโรคทั่วไปในสัดส่วน 60% ขณะที่ผู้ใช้บริการด้านศัลยกรรมเสริมความงามยังคงมีเพียง 40% คิดเป็นคนไทย 80% ต่างชาติ 20% ส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม ลาว และพม่า โดยมีแนวโน้มว่าสัดส่วนของผู้รับบริการต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 ส่วนรายได้ของโรงพยาบาลปี 2556 คาดว่าจะเติบโต 10% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาต่างชาติให้การยอมรับด้านความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ไทยมาก โดยเฉพาะในเรื่องศัลยกรรมเสริมความงามซึ่งแม้แต่เกาหลีใต้ก็ยังไม่สามารถผ่าตัดแปลงเพศ ดูดไขมัน และอื่นๆ ได้ จึงทำให้ปัจจุบันยังคงมีชาวเกาหลีใต้เดินทางมารับบริการศัลยกรรมเสริมความงามในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก”
นายแพทย์สุพจน์ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปิดเออีซีด้วยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากที่จะเป็นเมดิคัลฮับ (Medical Hub) ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งทางด้านการรักษาพยาบาลทั่วไปและศัลยกรรมเสริมความงาม เพราะมีความได้เปรียบทั้งในเรื่องของความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านระเบียบควบคุมการโฆษณาของแพทย์สภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ไม่สามารถโฆษณาในเรื่องของอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ได้
“ช่วงที่ผ่านมาผมมีโอกาสเดินทางไปประชาสัมพันธ์เรื่องทัวร์สุขภาพและการรักษาพยาบาลของประเทศไทยให้ประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ คูเวต เบลเยียม เยอรมนี และอีกหลายๆประเทศ ทำให้รู้ว่าหลายประเทศต่างเชื่อมั่นความสามารถและศักยภาพของแพทย์ไทย แต่คิดว่าไทยขาดอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ทั้งๆที่โรงพยาบาลของไทยทั้งของรัฐและเอกชนได้ลงทุนในเรื่องนี้เป็นจำนวนมากจนอาจกล่าวได้ว่าโรงพยาบาลของประเทศไทยมีอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ทันสมัยที่สุดในเอเชียก็ว่าได้ ผมและผู้แทนจากโรงพยาบาลต่างๆ จึงพยายามเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการแก้ไขระเบียบข้อห้ามเรื่องการโฆษณาทางการแพทย์เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของอาเซียน”
จากสถิติของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยเป็นจำนวน 22 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมารับการรักษาพยาบาลในไทย ประมาณ 2 แสนรายและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนราย ด้วยเหตุนี้หากโรงพยาบาลต่างๆในไทยสามารถประชาสัมพันธ์ให้ประเทศต่างๆรับทราบข้อมูลด้านอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ว่ามีความทันสมัยทัดเทียมกับประเทศชั้นนำในยุโรปย่อมมีส่วนทำให้มีชาวต่างชาติเดินทางมารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยและสามารถเพิ่มรายได้เข้าประเทศได้อีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วย 1 คนมักมีญาติ หรือผู้ติดตามเดินทางมาด้วยอย่างน้อย 3 คน