กฟผ.เผยการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทำลายสถิติรอบ 2 แล้ว ที่ 26,598.1 เมกะวัตต์ ณ อุณหภูมิ 37.0 องศาเซลเซียส สาเหตุสำคัญมาจากอากาศร้อน และมีการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ 2 เขื่อนใหญ่ “ภูมิพล-สิริกิติ์” ปิดการระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ขณะที่บางเขื่อนยังคงระบายน้ำต่อ ส่วนปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนยังคงน้อยมาก
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (16 พฤษภาคม 2556) เวลา 14.00 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีก (Peak) อยู่ที่ 26,598.1 เมกะวัตต์ ทำลายสถิติสูงสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ที่ 26,423 เมกะวัตต์ (เพิ่มขึ้น 175.1 เมกะวัตต์) สาเหตุสำคัญมาจากสภาพอากาศที่ร้อนโดยมีอุณหภูมิสูงถึง 37 องศาเซลเซียส จึงทำให้มีการใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้าโดยเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานไฟฟ้า บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศ และลดค่าใช้จ่ายของท่านได้เป็นอย่างดี
นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ.กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ.หลายแห่งยังคงทำหน้าที่ระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปัจจุบัน (15 พฤษภาคม 2556 เวลา 24.00 น.) มีปริมาณน้ำทั้งหมด 32,184 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52% ของความจุ น้อยกว่าปีที่แล้ว 7% หรือ 2,548 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 9,139 ล้าน ลบ.ม.
เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 1,236 ล้าน ลบ.ม. สิ้นสุดการระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา มีการระบายน้ำตลอดช่วงฤดูแล้งไปทั้งสิ้น 3,516 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันยังไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามาเติมในอ่างเก็บน้ำ แต่ยังคงระบายน้ำเพื่อการเกษตรฤดูฝนเฉลี่ยวันละ 15 ล้าน ลบ.ม.
เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 678 ล้าน ลบ.ม. สิ้นสุดการระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน มีการระบายน้ำตลอดช่วงฤดูแล้งไปทั้งสิ้น 3,667 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันระบายน้ำวันละ 16 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์ดีกว่าเขื่อนภูมิพล คือ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ยวันละ 4 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 103 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาลำน้ำวันละ 0.8 ล้าน ลบ.ม. และยังพอมีน้ำไหลเข้าเขื่อนใกล้เคียงกับที่ระบายน้ำออก
ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วร้อยละ 73 ของแผนจัดสรรน้ำ หรือ 5,121 ล้าน ลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำที่จะระบายตลอดช่วงฤดูแล้งที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้อีกประมาณ 1,878 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนทั้งสองยังมีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกัน 4,186 ล้าน ลบ.ม. (เขื่อนศรีนครินทร์ 2,900 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ์ 1,286 ล้าน ลบ.ม.) เพียงพอที่จะระบายได้ตลอดฤดูแล้งนี้