xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ลุ้นระทึกน้ำไม่ไหลเข้าเขื่อน พ.ค.นี้วิกฤตแน่! วอนคนไทยใช้ประหยัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” บริหารน้ำในเขื่อนหลักภูมิพล-สิริกิติ์รัดกุมมากขึ้น หลังปริมาณน้ำที่จะระบายเหลือต่ำกว่าเกณฑ์ รับจัดสรรให้ภาคเกษตรเพิ่มค่อนข้างยากขึ้นหลังน้ำไหลเข้าแทบไม่มี และหาก พ.ค.นี้น้ำไม่เข้าเขื่อนเพิ่มเสี่ยงวิกฤตแน่ แต่ยังมีลุ้นเหตุกรมอุตุฯ ยันฝนมาตามฤดูกาลแต่ปริมาณฝนจะต่ำ วอนคนไทยช่วยประหยัด


นายธนรัชต์ ภูมิมะกสิกร ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การบริหารน้ำในเขื่อนใหญ่ซึ่งเป็นเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ ต้องรัดกุมมากขึ้นหลังจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้ได้จริงเหลือค่อนข้างต่ำ ซึ่ง กฟผ.จะระบายตามมติคณะอนุกรรมการติดตามน้ำและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำซึ่งเน้นการบริโภคและอุปโภคเป็นหลัก โดยปัจจุบันเขื่อนสิริกิติ์มีน้ำที่จะใช้ได้จริง 800 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ระบายที่ 10-16 ล้าน ลบ.เมตรต่อวัน หากปริมาณฝนไม่เข้าเขื่อนเลยจนถึงสิ้น พ.ค.นี้มีความเสี่ยงต่อน้ำที่จะต้องจำกัดลงมาก

“ทางกรมอุตุนิยมวิทยาเองระบุว่าฝนจะมาตามฤดูกาลในช่วง พ.ค.นี้ แต่ภาพรวมปีนี้ปริมาณฝนจะต่ำกว่าปีที่แล้ว ก็คงจะต้องรอปริมาณฝน ซึ่งล่าสุดมีน้ำไหลเข้าเขื่อนบ้างแต่ถือว่าไม่มีผลใดๆ เลยเพราะน้อย ส่วนการระบายน้ำก็ต้องหารือกันในคณะอนุกรรมการฯโดยขณะนี้เน้นบริหารจัดการให้น้ำเพียงพออุปโภคบริโภคในลุ่มเจ้าพระยาและให้มีน้ำไปผลักดันน้ำเค็มให้น้ำกร่อยเจือจางลงในเขต กทม. และชลบุรี เพราะจะมีผลต่อการทำน้ำประปาได้ ซึ่งยอมรับว่าถ้าหากจะจัดสรรน้ำให้ภาคเกษตรเพิ่มจากนี้ไปยอมรับว่าค่อนข้างจะยากมาก ดังนั้นขอให้คนไทยใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย” นายธนรัชต์กล่าว

นายณัฐจพนธ์ ภูมิเวียงศรี ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล กล่าวว่า ขณะนี้ กฟผ.ต้องบริหารจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพลอย่างรัดกุม เนื่องจากปัจจุบันปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างแทบไม่มี ปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้มีเพียง 1,563 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยขณะนี้ระบายวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร หากฝนไม่ตกไหลเข้าเขื่อนเลยในช่วง พ.ค.นี้ก็จะสามารถระบายน้ำได้อีกภายในไม่เกิน พ.ค.นี้เท่านั้น

“ยอมรับว่าปีนี้แล้งมากแม้ว่าฝนจะตกกระจายในหลายพื้นที่บ้างแล้ว แต่น้ำไม่ไหลเข้าเขื่อนภูมิพลเลย ขณะนี้ทำให้เราต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม โดยได้ลดการระบายน้ำลงจากเดิมเคยระบายวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือเพียงวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ใช้ในอุปโภคและบริโภคเป็นหลัก” นายณัฐจพนธ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น