xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนใหญ่ “กฟผ.” ทุกแห่งน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ รับเสี่ยงขาดแคลนในปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กฟผ.เผยปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่เกือบทุกแห่งต่ำกว่าเกณฑ์ โดยเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ ระบายเกินแผนแล้ว 379 ล้าน ลบ.ม. รับอาจเกิดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในปีหน้าได้ภาวนาขอให้ฝนเทลงมาช่วงฤดูฝนตามปกติ
 

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ณ วันที่ 25 เมษายน 2556 เวลา 24.00 น. ว่ามีปริมาณน้ำทั้งหมด 33,861 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุ น้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 8 หรือ 3,021 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 10,816 ล้าน ลบ.ม. แม้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีน้อย แต่ยังมีเพียงพอที่จะระบายตามแผนเพื่อการชลประทานฤดูแล้งที่ใกล้จะสิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้

เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีแผนการระบายน้ำช่วงฤดูแล้งระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 55-30 เม.ย. 56 รวม 6,800 ล้าน ลบ.ม. ถึงปัจจุบัน (25 เม.ย. 56) มีการระบายน้ำไปแล้ว 7,083 ล้าน ลบ.ม. ยังจะระบายน้ำในช่วงปลายฤดูแล้งที่เหลืออีก 5 วันนี้ ประมาณ 96 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็นปริมาณน้ำที่ระบายตลอดฤดูแล้งทั้งสิ้น 7,179 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะมากกว่าแผนที่วางไว้ 379 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน เขื่อนทั้งสองยังมีปริมาณน้ำใช้งานได้ 2,529 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำจำนวนนี้จำเป็นต้องสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน หากฝนมาช้า หรือมีปริมาณน้อย ก็จำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนทั้งสองต่อเนื่องต่อไป

ในปีนี้มีเพียงเขื่อนในภาคตะวันตก ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ยังมีน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกัน 5,175 ล้าน ลบ.ม. กำลังอยู่ในช่วงการระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 25 เม.ย. 56 ไปแล้ว 4,214 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณร้อยละ 60 ของแผนทั้งหมด ยังจะระบายน้ำตลอดช่วงฤดูแล้งที่จะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 56 อีก 2,785 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้งานได้มีเพียงพอที่จะระบายได้ตลอดช่วงฤดูแล้ง

“ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเกือบทุกแห่งมีปริมาณน้ำอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมปริมาณน้ำตัวล่าง (Lower Rule Curve) ซึ่งมีความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนน้ำในปีหน้าได้ การระบายน้ำ กฟผ.ได้ดำเนินการตามมติของคณะอนุกรรมการฯ ที่กำกับดูแลอย่างเคร่งครัดตลอดมา และหวังว่าฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงจะช่วยเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ ทำให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรต่อไป” ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น