ก.อุตฯ เตรียมจ่ายเงินประเดิม 1.7 พันล้านบาทให้เอกชนที่สร้างเขื่อนป้องกันอุทกภัยแล้วเสร็จ 4 ราย โดยอีก 1 รายคือ “นวนคร” เอกสารยังไม่เรียบร้อย ขณะที่นิคมฯ สหรัตนนครก่อสร้างไม่คืบ ขณะที่หอการค้าญี่ปุ่นตบเท้าทวงถามแผนก่อสร้างเขื่อน รวมถึงนโยบายส่งเสริมลงทุนฯ ใหม่บีโอไอ ก.อุตฯ ยันเข้าบอร์ด 17 พ.ค.เพื่อสรุปแนวทาง
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของนายซูซุมุ อูเนโนะ ประธานหอการค้าญี่ปุ่นกรุงเทพฯ และคณะผู้บริหารชุดใหม่วันนี้ (15 พ.ค.) ว่า ทางญี่ปุ่นได้สอบถามความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนป้องกันอุทกภัยในนิคมอุตสาหกรรม โดยได้แจ้งว่าขณะนี้แล้วเสร็จ 5 แห่งยกเว้นนิคมฯ สหรัตนนคร และวันพรุ่งนี้ (16 พ.ค.) จะทำพิธีมอบเงินสนับสนุนการก่อสร้างเขื่อน 2 ใน 3 ของเงินลงทุน เบื้องต้น 4 แห่ง ได้แก่ นิคมฯ บางปะอิน นิคมฯ บ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมฯ บางกะดี นิคมฯ โรจนะ รวมวงเงิน 1,754 แห่ง ส่วนเขตประกอบการอุตฯ นวนครเอกสารยังไม่เรียบร้อย
“ทางหอการค้าญี่ปุ่นเองมีความกังวลถึงความคืบหน้าการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำในนิคมฯ ที่ต้องการให้เป็นระบบถาวร โดยยืนยันไปว่าเขื่อนที่ถูกน้ำท่วม 6 แห่งนั้นมีเพียงแห่งเดียวคือสหรัตนนครที่ยังไม่ได้ก่อสร้างเพราะยังมีปัญหาในเรื่องรูปแบบของราคากลางจึงมอบให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ได้ยืนยันว่ารัฐบาลได้มีนโยบายให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำและการป้องกันอุทกภัยแบบยั่งยืน” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว
พร้อมกันนี้ หอการค้าญี่ปุ่นยังได้สอบถามข้อเท็จจริงที่ขณะนี้มีนิคมฯ เอกชนในแถบภาคตะวันออกบางแห่งได้แจ้งนักลงทุนที่อยู่ในนิคมฯ ดังกล่าวว่าจะมีการจัดเก็บค่าบริการระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติม ซึ่งทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นมองว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมจึงไม่ควรจะเป็นภาระแก่นักลงทุน ดังนั้นจึงได้มอบให้ กนอ.ไปติดตามข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร แต่ยืนยันว่ากระทรวงอุตสาหกรรมไม่มีนโยบายจัดเก็บเงินเพิ่ม
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้สอบถามถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่าจะมีผลบังคับใช้เมื่อใดแน่ โดยเรื่องนี้ได้ชี้แจงว่าในวันที่ 17 พ.ค.นี้จะมีการประชุมบอร์ดบีโอไอเพื่อสรุปรายงานเรื่องดังกล่าวภายหลังจากที่บอร์ดเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายกลับไปรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากทั้งหน่วยงานรัฐ อาทิ กระทรวงการคลัง และภาคเอกชนให้ครอบคลุม