“ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ ” เผยโรงงานอุตสาหกรรมอีสเทิร์น ซีบอร์ด ฮอต ปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา ราคาที่ดินพุ่ง 6.34-6.43% เหตุนักลงทุนรายเดิมย้ายฐานผลิตหนีน้ำท่วมโดยเฉพาะทุนญี่ปุ่น ขณะที่รายใหม่หนีค่าแรงแพง-ข้อพิพาทจีนย้ายฐานผลิตมาไทย
นายมาร์คัส เบอร์เทนชอว์ กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายตัวแทนนายหน้าของบริษัทไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยผลสำรวจและวิจัยฉบับล่าสุดว่า ความต้องการที่ดินอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีสเทิร์น ซีบอร์ด) ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ทำเลที่มีแรงงาน และโครงสร้างระบบลอจิสติกส์พร้อมยังคงเป็นที่ต้องการต่อไป โดยเฉพาะบริเวณที่ไม่ได้ถูกน้ำท่วมในปี 2554
จากผลวิจัยของไนท์แฟรงค์ประเทศไทยบ่งชี้ว่า อุปทานทั้งหมดของที่ดินย่อยที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เขตนิคม และสวนสาธารณะ/อุทยาน (SILPs) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 อยู่ที่ 125,325 ไร่ เพิ่มขึ้น 2.07% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปี 2555 ได้ขายที่ดินอุตสาหกรรมจำนวน 5,288 ไร่ เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2554 ที่สามารถขายได้ 1,104 ไร่
ทั้งนี้ ในช่วง 8 ไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า อัตราการดูดซับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นความต้องการที่มีอยู่มาก ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวของการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีสาเหตุมาจากการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม และการย้ายทำเลที่ตั้งโรงงาน ในขณะที่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นรายใหม่ได้หันมาให้ความสนใจมายังประเทศไทย ภายหลังจากค่าแรงในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น และความตึงเครียดทางการเมืองกับประเทศจีน
สำหรับราคาที่ดินอุตสาหกรรมในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ 1 ล้านบาทต่อไร่ (หรือ 625 บาทต่อตารางเมตร) จนถึง 16 ล้านบาทต่อไร่ (หรือ 10,000 บาทต่อตารางเมตร) ในช่วงปี 2555 ราคาที่ดินทั่วประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 5% อย่างไรก็ตาม พบว่าที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมในจังหวัดที่ไม่ถูกน้ำท่วมเติบโตมากที่สุด ราคาที่ดินในอีสเทิร์น ซีบอร์ด และบริเวณที่เรียกว่าเขต เซ็นทรัล อีสเทิร์นโซน ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี และบางส่วนของฉะเชิงเทรา มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 6.34-6.43% ตามลำดับ ผู้พัฒนาโครงการรายใหญ่บางรายในเขตอีสเทิร์น ซีบอร์ด สามารถปรับราคาเพิ่มได้ 15-20% เป็นผลมาจากความต้องการที่มีมากขึ้น
อุปทานทั้งหมดของโรงงานสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 17.82 % ในปี 2555 อยู่ที่ 2,654,537 ตารางเมตร ปรับตัวขึ้น 3.72% ในไตรมาสสุดท้ายเนื่องจากผู้พัฒนาโครงการตอบสนองความต้องการผู้ซื้อที่มากขึ้น
ส่วนอัตราการเช่าโรงงานอยู่ที่ 89.76%ในไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งเพิ่มขึ้น 88.99% จากไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าจะมีการเพิ่มสินค้าใหม่เข้าตลาดมากขึ้น การดูดซับเชิงบวกสุทธิดำเนินไปอย่างคงที่ในช่วง 6 ไตรมาสสุดท้าย แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของความต้องการพื้นที่โรงงานแม้ช่วงหลังน้ำท่วม
นายเบอร์เทนชอว์ คาดการณ์ว่า การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศจะยังคงหมุนเวียนในประเทศไทยในปี 2556 และทำเลที่มีแรงงานพร้อม และระบบลอจิสติกส์ที่ดีจะเป็นที่ต้องการต่อไป โดยเฉพาะทำเลที่ไม่ถูกน้ำท่วมในปี 2554