xs
xsm
sm
md
lg

ทองคำสัญญาณเตือนภัยของตลาดเงิน (Currency)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

       ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับราคาของทองคำที่มีการปรับตัวลงกว่า 220 ดอลล่าร์ ต่อ ออนซ์ ในเวลา 2 วัน การปรับลงอย่างรุนแรงเช่นนี้ย่อมไม่ใช่เหตุธรรมดาอย่างแน่นนอน  ขณะนี้ตามหัวข้อข่าวต่างๆคงหาเหตุผลการปรับตัวลงของราคาเช่น

  • รัฐบาลของประเทศไซปรัสต้องเทขายทองคำออกมาเพื่อใช้หนี้ อิตาลีก็เช่นเดียวกัน และอื่นๆ

  • กองทุน Hedge Fund เทขายเพื่อทำกำไร โดยเฉพาะ จอร์จ โซรอส

  • สัญญาณทางเทคนิค แสดงสถานะขาย และมีข่าวร้ายๆมากมายเกี่ยวกับทองคำออกมา

  • ปัญหาของสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีสัญญาณที่ดี และอื่นๆ


สิ่งเหล่านี้คือการหาเหตุระยะสั้น เฉพาะหน้าเพื่อมาอธิบายกันมาตลอด
         การขายทองคำที่เป็นทุนสำรอง หรือการขายในปริมาณมหาศาลจะไม่มีการขายให้ตลาด แต่จะขายด้วยการเจรจาและตกลงราคาซื้อขายกัน โดยมีการอ้างอิงจากราคาตลาดโลก
         การขายทำกำไรของกองทุน Hedge Fund หากเป็นของ จอร์จ โซรอส นั้น มีการขายออกมานานพอสมควรแล้ว และมีข่าวออกตามสื่อโดยทั่วไป การเคลื่อนไหวของ จอร์จ โซรอส นั้น นักลงทุนทั่วโลกจะติดตามเสมอ เพราะถือได้ว่าเป็น นกรู้ ( Insider ) คนหนึ่งของโลก ที่เห็นภาพการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและการลงทุนก่อนคนอื่นๆในโลก และยังมีอีกบุคคลหนึ่งที่ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญในวงการ Hedge Fund คือ จอห์น พอลสัน ที่มีชื่อเสียงมากในช่วงวิกฤต แฮมเบเกอร์ ที่ลงทุนในฝั่งขายของตราสาร CDO ซึ่งมีไม่กี่คนที่ถือสถานะ ขาย ทำให้ จอห์น พอลสัน ทำกำไรได้มหาศาลจากการหายนะทางเศรษฐกิจของ สหรัฐอเมริกา ช่วงปี 2008 
        ขณะนี้ พอร์ตการลงทุนของ จอห์น พอลสัน ตั้งแต่ปี 2012 ถือครองทองคำผ่านกองทุน ETF ถึง 25% และถือหุ้นเหมืองทองคำ 3 แห่ง อีกเกือบ 18% ( ซึ่ง1ใน 3 จะได้สัมปทานเหมืองทองคำในพม่า) ทำให้สัดส่วนการถือสินทรัพย์ที่เป็นทองคำถือเป็นสัดส่วน 45% ของพอร์ตการลงทุนมูลค่า 16,267 ล้านดอลล่าร์
       การถือทองคำในปริมาณมหาศาลและยังคงถือครองอยู่ อาจเป็นสัญญาณบอกเหตุบางอย่างของนัก Insider ผู้นี้
       ในการถือครองทองคำในโลกนี้ มีผู้ครอบครองเป็น 2 กลุ่มคือ ธนาคารกลาง ( Central Bank) ของแต่ละประเทศถือครองเพราะป้องกันการเสื่อมค่าของเงิน ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาและเป็นทุนสำรองมีปริมาณมูลค่าประมาณ 1.6  ล้านล้านเหรียญ อีกกลุ่มคือ นักลงทุน และประชาชนทั่วไปถือครองมีปริมาณมูลค่าประมาณ 9 ล้านล้านเหรียญ
     แต่ยังคงมีทองคำอีกประเภทหนึ่งที่มีการ ซื้อ-ขาย กันมี มูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านล้านเหรียญ คือ สัญญาทองคำที่ ซื้อ-ขาย กันในตลาดล่วงหน้าที่ส่งมอบเป็นเงินแทนทองคำ หรือ ที่รู้จักกันว่า สัญญาทองคำ ซื้อ-ขาย ล่วงหน้า (Gold-Future) ที่มีตลาด  CME (Chicago Mercantile Exchange)เป็นศูนย์กลางมีการ ซื้อ-ขาย กัน เกือบ 24 ชั่วโมง ซึ่งตลาด CME นี้จะชี้นำราคาทองคำทั่วโลก และตลาดที่ ซื้อ-ขาย Gold-Future ในแต่ละประเทศก็จะอ้างอิงตลาด CME นี้ (ซึ่งมหันตภัยของตลาดท้องถิ่นคือ เวลา เปิด-ปิด ของแต่ละตลาด ในขณะที่ตลาดอ้างอิง ซื้อ-ขาย เกือบ 24 ชั่วโมง) ด้วยเหตุนี้  จึงมีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาทองคำ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ปริมาณสัญญาการซื้อ-ขายนั้นมี 4 ธนาคารใหญ่ในอเมริกาคือ  JP Morgan Chase, Bank of America, Morgan Stanley และ Goldman Sachs ถือครองสถานะรวมกันประมาณ 40-50% ของปริมาณการซื้อ-ขายทั้งหมด และมี4 ธนาคารใหญ่ในยุโรปคือ Deutsche Bank, UBS, Credit Suisse และ Barclays ถือครองสถานะรวมกันประมาณ 8-15% ของปริมาณการซื้อ-ขายทั้งหมด จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่า ธนาคาร ทั้ง 8 แห่งมีบทบาทสำคัญกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ และสามารถชี้นำราคาได้จากการสัมภาษณ์ และการออกบทวิเคราะห์ ( หลังวิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกา กรรมาธิการ การเงิน ของ วุฒิสมาชิก ได้ทำการสอบสวนผู้บริหารธนาคารเหล่านี้ มีช่วงหนึ่งที่ถูกซักว่า “ทำไมธนาคารออกบทวิเคราะห์ว่าให้ซื้อ ในขณะที่พอร์ตของผู้บริหารและของธนาคารขายออกมา” ไม่มีคำตอบและปัจจุบันเรื่องนี้ก็เงียบไป)
      ในช่วงระยะเวลากว่า 8 เดือนที่ผ่านมา 4 ธนาคารใหญ่ในอเมริกา ถือสถานะ ขาย (Short-position) โดย เฉลี่ย 42-48% ของปริมาณสัญญาทั้งหมดในตลาด CME และ 4 ธนาคารใหญ่ในยุโรป ถือสถานะ ขาย (Short-position) โดย เฉลี่ย 5-10% เมื่อผู้ควบคุมตลาดไม่ต้องการให้ขึ้น จึงถือ สถานะขายมาตลอด (หลังจากลงมามากขนาดนี้ตรงรอดูรายงานจากตลาด  CME (Chicago Mercantile Exchange)ที่จะรายงานทุกวัน ศุกร์ ถึงการถือครองสถานะ แล้วจะแจ้งให้ทราบอีกในโอกาสต่อไป)
      แต่ที่สังเกตได้ว่าตั้งแต่การปรับลงของราคาทองคำรอบนี้ 4 ธนาคารใหญ่ในอเมริกา ลดปริมาณการถือครอง สถานะขาย มาโดยตลอด อาจสันนิฐานว่าเป็นการกดราคาลงเพื่อ ปิดสถานะ ก็เป็นไปได้ ถึงอย่างไรก็ต้องรอดูวัน ศุกร์ หน้าจากรายงาน
      ทำไมถึงมีสัญญาณเตือนภัยในตลาดเงิน 
    ทองคำในอีกสถานะหนึ่งก็คือ ทางเลือกของอัตราแลกเปลี่ยน จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของทุกภูมิภาคในโลก “ทองคำคือสินทรัพย์ที่แสดงถึงมูลค่าที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวในการอ้างอิง”
    จากเหตุการณ์ วิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกาในปี 2008 และตามด้วย วิกฤติทางการเงินในยูโรโซน ในปี 2011-2012 แต่ละประเทศเลือกแก้ปัญหาหนี้สาธารณะด้วยการเพิ่มเงินเข้าไปในระบบผ่านสถาบันการเงินประกอบด้วย

  • สหรัฐอเมริกาได้ใช้มาตรการ QE 1,2 และ3 ออกมาทำให้มีปริมาณเงินดอลล่าร์ ออกในระบบเป็นปริมาณมหาศาล แต่การแก้ปัญหาด้วยการอัดเงินผ่านระบบธนาคาร เพื่อให้ภาคการเงินนำไปลงทุนเก็งกำไรในตราสารทางการเงินทั่วโลกจนเกิดสภาวะฟองสบู่ในหลายๆตลาด จากหลายๆมาตรการในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจส่งผลให้ สหรัฐอเมริกามีหนี้สาธารณะสูงถึง 107% ของ GDP

  • ยูโรโซน ประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะจากการแก้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากฝั่งสหรัฐอเมริกา และฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ใน ไอร์แลนด์ อังกฤษ และ สเปน จนลามไปถึงกรีซ ทำให้ ทำให้ ECB ต้องเข้ามาซื้อพันธบัตรที่ครบกำหนดของแต่ละประเทศ ตั้งกองทุน EFM เพื่อเข้าอุ้มธนาคารหลายแห่ง ทำให้หยุดวิกฤตได้ในระดับที่ดี การให้กรีซกู้ยืมเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่การทำให้ธนาคารกลางยุโรปต้องพิมพ์เงินในจำนวนมากออกมาเพื่อแก้ปัญหา จึงเป็นผลทำให้ปริมาณเงินยูโรเพิ่มขึ้นในระบบเป็นจำนวนมาก

  • ธนาคารกลางอังกฤษก็ทำการเข้าซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง

  • สุดท้ายที่ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นได้เปลี่ยนนโยบายทางการเงินด้วยการทำเป้าหมายเงินเฟ้อ และดำเนินการเข้าซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือนที่เข้าซื้อปริมาณใกล้เคียงกับธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา คือ ประมาณ 85,000 ล้านเหรียญต่อเดือน


             จากการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคนั้นทำให้เห็นได้ว่า ปริมาณเงินมหาศาลที่ถูกใส่เข้ามานั้นทำให้ตลาดตราสารทางการเงินประกอบด้วย ตลาดหุ้น พันธบัตร อนุพันธ์ อสังหาริมทรัพย์ ในหลายๆประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ แต่เศรษฐกิจจริงยังไม่ได้ถูกแก้ปัญหา อัตราว่างงานยังเพิ่มขึ้นในประเทศที่ประสบปัญหา,การเก็บภาษีลดลงทำให้ต้องเพิ่มอัตราภาษี,การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอัตราที่ลดลง ทำให้ปัญหาที่แท้จริงยังไม่ถูกแก้ไข
            แต่เงินปริมาณมหาศาลเหล่านี้ต้องการที่ไป ตลาดหุ้นหลายๆตลาดอยู่ในสภาวะฟองสบู่ที่ใกล้ระยะสุดท้าย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ทำให้เงินที่ผ่านการเก็งกำไรในตราสารต้องทยอยขายสินทรัพย์ออกมา
           แต่ปัญหาใหญ่กำลังรออยู่คือ การเสื่อมค่าของสกุลเงินต่างๆที่มีอยู่ล้นโลก หากเกิด 2 สถานการณ์คือ การกลับมาของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้หลายประเทศนั้นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะมีการเทขายครั้งใหญ่ในตลาดพันธบัตร และจะกระทบกลับตลาดหุ้นโดยตรง เงินที่เข้าไปลงทุนในแต่ละประเทศนั้น ในวันที่เข้าไปในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมากำไรกันกว่า 100-300% หากมีการถอนการลงทุนออกมาเงินเหล่านี้ไม่ได้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เป็นการเก็งกำไร จะทำให้ธนาคารกลาง ในแต่ละประเทศจะมีปัญหาเรื่องทุนสำรองทันที เพราะเงินที่เข้ามาจะออกไปพร้อมกับผลกำไรที่เพื่อขึ้นกว่าเท่าตัว ปริมาณทุนสำรองของธนาคารกลางจะเกิดปัญหาทันที
        อีกกรณีคือการแตกตัวของฟองสบู่ทางเศรษฐกิจในหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่เร่งการเติบโตด้วยการก่อหนี้ในปริมาณมหาศาลเพื่อมาลงทุนที่ไม่เกิดผลที่ดีต่อการเติบโตระยะยาว
     ปัจจัยทั้งสองนี้ จะทำให้เกิดการเสื่อมค่าของสกุลเงินต่างๆ ได้มาก โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ ด้วยเหตุนี้ ทองคำเป็นทางเลือกที่ดีทีสุดสำหรับการรักษาระดับความมั่งคั่ง แต่มีราคาที่สูงไปในสายตาของนักลงทุนรายใหญ่ จึงฉวยโอกาสจากการเป็นผู้ควบคุมตลาด ทำการเทขายในตลาดตราสารอ้างอิงออกมา ทำให้ราคาปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง หลังจากนี้จะพบข้อมูลว่านักลงทุนขนาดใหญ่ และธนาคารกลาง ของหลายประเทศจะเข้าซื้อทองคำเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลัง และการลงทุน เพราะเมื่ออัตราเงินเฟ้อกลับมา ทองคำจะเข้ามามีบทบาทอย่างสูงต่อไป เห็นได้จาก การนำกลับทองคำทุนสำรองของ ธนาคารกลางประเทศเยอรมัน และ เวเนซูเอล่า การนำกองกำลังทหารเข้าสู้กับกลุ่มกบฏในซูดานของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทองคำที่สำคัญ การลดการถือครองดอลลาร์สหรัฐของธนาคารกลาง รัสเซีย ยูเครน จีน เกาหลีใต้ ศรีลังกา อินเดีย บราซิล และอาเจนติน่า ประเทศเหล่านี้เข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลัง
       หลังจากการกลับมาของอัตราเงินเฟ้อในอีกไม่นาน การเกิดฟองสบู่ลูกใหญ่ในตลาดเงินที่ล้นโลก และปริมาณหนี้มหาศาลของประเทศพัฒนาแล้วยังเป็นตัวเร่งของปัจจัยเสี่ยงที่รุนแรง ดังนั้นเมื่อมีข่าวเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ จึงมีเหตุผลที่จะทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง และเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าซื้อทองคำแทนการถือเงินสดที่จะเสื่อมค่าอย่างรวดเร็วในไม่ช้านี้
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น