กรมทางหลวงตั้งเป้าประมูลบิ๊กโปรเจกต์กว่า 2.4 แสนล้าน ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านหมดใน 3 ปี “ชัชวาลย์” เผยแบ่งสัญญาประมูลเพื่อกระจายงานผู้รับเหมาที่ขึ้นทะเบียนทุกชั้น มั่นใจทำให้เสร็จเร็วและมีคุณภาพ ชี้หากล่าช้าโดนค่าปรับสูงสุดที่ 0.25% พร้อมดึงคนกลางร่วมกำหนดTOR ประเดิม e-Auction มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช กว่า 8 หมื่นล้าน คาดแบ่งมากกว่า 10 สัญญายอมรับกังวลงานก่อสร้างมาก ทำแรงงานไม่พอ พร้อมวอน “พาณิชย์” คุมราคาวัสดุ
พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....จำนวน 2 ล้านล้านบาทจะเน้นลงทุนระบบราง ถึง 82.92% ส่วนการขนส่งทางถนนจะมีการลงทุนเพียง 14.47% โดยมุ่งไปที่การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ทางหลวงพิเศษสถานีขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งสินค้าจากในประเทศเชื่อมต่อกับโครงข่าย AEC และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้รับวงเงินรวมทั้งสิ้น 241,080 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมาได้รับทั้งค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าก่อสร้าง วงเงิน 84,600 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี เฉพาะค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 5,420 ล้านบาท 3. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา-มาบตาพุด เฉพาะค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 1,800 ล้านบาท
4. โครงการเร่งรัดก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจร และเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง วงเงิน 80,610 ล้านบาท 5. โครงการก่อสร้างบูรณะถนนสายหลักระหว่างภาค วงเงิน 31,600 ล้านบาท 6. โครงการสะพานข้ามทางรถไฟ จำนวน 83 แห่งและงานรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สำหรับก่อสร้างสะพานกรมทางหลวง วงเงิน 23,280 ล้านบาท7.โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศวงเงิน 13,770 ล้านบาท
นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดโครงการเพื่อแบ่งตอนประมูลก่อสร้างให้เหมาะสมกับผู้รับเหมาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทางหลวง ซึ่งมีหลายร้อยบริษัท โดยการแบ่งหลายสัญญาไม่ใช่ห่วงว่าจะไม่โปร่งใส แต่การจัดการให้เหมาะสมกับผู้รับเหมาในแต่ละชั้นซึ่งจะทำให้งานก่อสร้างเสร็จเร็วและผลงานมีคุณภาพยกตัวอย่างขยายถนน4 ช่องจราจรจากขอนแก่น-มุกดาหาร อาจจะแบ่งตลประมูลตอนละ 20 กิโลเมตร เป็นต้น
โดยปัจจุบัน มีผู้รับเหมาจดทะเบียนกับกรมทางหลวงแบ่งตามสิทธิ์ประมูลก่อสร้าง 5 ชั้น คือ ผู้รับเหมางานก่อสร้างชั้นพิเศษ 52 บริษัท โดยปกติประมูลงานวงเงินประมาณ 600-900 ล้านบาท และงานก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่เป็นงบผูกพันเกิน 1 ปี, ผู้รับเหมางานก่อสร้าง ทางชั้น 1 จำนวน 70 บริษัท, ชั้น 2 จำนวน 81 บริษัท, ชั้น 3 จำนวน 99 บริษัท, ชั้น 4 จำนวน 188 บริษัท, งานก่อสร้างสะพานชั้น 1 จำนวน 31 บริษัท, ชั้น 2 จำนวน 40 บริษัท, ชั้น 3 จำนวน 62 บริษัท, สะพานชั้น 4 จำนวน 76 บริษัท
ทั้งนี้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท กำหนดให้ดำเนินโครงการแล้วเสร็จภายใน 7 ปี (2557-2563) ซึ่ง ทล.มีเป้าหมายจะทยอยเปิดประมูลโครงการครบทั้ง 200,000 กว่าล้านบาทที่ได้รับให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปีแรก โดยในส่วนของถนน 4 ช่องจราจรคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2562 ส่วนการบูรณะทางหลวง จะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2560
นายชัชวาลย์กล่าวว่า แผนการก่อสร้างโครงการจะพิจารณาจากศักยภาพของผู้รับเหมา และคุณภาพของงานที่ออกมา จึงต้องกระจายงานให้กับผู้รับเหมาหลายรายดีกว่าการให้งานกระจุกอยู่กับผู้รับเหมาเฉพาะรายใหญ่ๆ เนื่องจากผู้รับหมาที่จดทะเบียนกับ ทล.จะผ่านการตรวจสอบถือว่ามีประสิทธิภาพในการทำงานนอกจากนี้หลักการทำงานกับ ทล.คือหากงานไม่เสร็จตามกำหนดในสัญญาผู้รับเหมาจะถูกปรับในอัตราสูงสุดตามระเบียบพัสดุ คือ 0.25% ของมูลค่างาน
ส่วนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร ซึ่งได้รับทั้งค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าก่อสร้าง วงเงินรวม 84,600 ล้านบาทอยู่ระหว่างการเตรียมประมูล คาดว่าจะแบ่งตอนประมูลมากกว่า 10 สัญญา ทั้งนี้ นอกจากจะทำให้งานเสร็จตามแผนแล้วยังป้องกันความเสี่ยงหากประมูลสัญญาตอนเดียวทำให้มูลค่างานสูงหากผู้รับเหมาที่รับงานไปมีปัญหาจะกระทบทั้งโครงการ และเพื่อให้มีความโปร่งใสในการประมูล ทล.จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐเช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และภาคเอกชนมาร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาโครงการตั้งแต่ก่อนประมูลคือขั้นตอนการกำหนดราคากลางการประมูลจนกระทั่งลงนามสัญญา
โดยมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช เป็นการลงทุนโดยรัฐ ส่วนมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ได้รับค่าเวนคืนจาก พ.ร.บ.2 ล้านล้าน ส่วนการก่อสร้างจะร่วมทุนกับเอกชนแบบ PPP ส่วนมอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด ได้รับค่าเวนคืนจาก พ.ร.บ.2 ล้านล้านเช่นกัน ส่วนค่าก่อสร้างจะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์สาย 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี สายใหม่) และมอเตอร์เวย์สาย 9 (วงแหวนตะวันออก)
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างหลายโครงการพร้อมๆ กันอาจจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างที่อาจปรับเพิ่มขึ้นเพราะมีความต้องการมาก ซึ่งหวังว่ากระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาควบคุมราคาอย่าใกล้ชิดเพื่อไม่ให้กระทบต่อการก่อสร้าง