กนอ. ผุด 3 พื้นที่เป้าหมาย ตั้งนิคมฯ SMEs หวังช่วยขับเคลื่อน ศก.ประเทศ พร้อมกำหนด 3 มาตรการเพื่อสนับสนุน
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีความสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ ประกอบกับเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในการพัฒนาทักษะฝีมือ การสร้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างเงินตราต่างประเทศโดยการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
ดังนั้น กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs จะเป็นจุดเริ่มต้นในการลงทุนและเชื่อมโยงกับกิจกรรมขนาดใหญ่และการผลิตอื่นๆ ได้ในอนาคต กนอ. จึงมีแนวคิดจัดตั้งและพัฒนานิคมอุตสาหกรรม SMEs เพื่อเป็นการสร้างกลไกการตลาดที่เหมาะสมในการดูแล SMEs ส่งผลให้เป็นกลุ่มสังคมของผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป ใน 3 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ 1. พื้นที่เขตภาคกลาง 2. พื้นที่เขตภาคเหนือ 3. พื้นที่เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ มีมติให้มุ่งเน้นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม SMEs สำหรับอุตสาหกรรมสาขาเป้าหมาย ได้แก่ 1. ภาคการผลิต จำนวน 23 สาขา อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 2. ภาคการค้า จำนวน 1 สาขา คือ กลุ่มธุรกิจการค้าปลีกและการค้าส่ง 3. ภาคบริการ จำนวน 15 สาขา อาทิ กลุ่มธุรกิจการบริการและการท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจบันเทิง เป็นต้น
นายวิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กนอ. ได้กำหนดมาตรการ 3 ข้อ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม SMEs ได้แก่ 1. สนับสนุนการก่อสร้างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (OSS) พื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตร ในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท 2. ยกเว้นค่ากำกับบริการโดยให้ชำระค่ากำกับบริการในปีที่ 5 เป็นต้นไป 3. กนอ. สนับสนุนในเรื่องของการประชาสัมพันธ์โครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ จาก 3 มาตรการ และความพร้อมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม SMEs คาดว่า จะมี SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมกว่า 2,700,000 ราย แบ่งเป็น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประมาณ 2,670,000 ราย (วิสาหกิจขนาดย่อม ประมาณ 2,650,000 ราย วิสาหกิจขนาดกลางประมาณ 10,000 ราย) และวิสาหกิจขนาดใหญ่ ประมาณ 6,000 ราย โดยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีสัดส่วนร้อยละ 99.76 วิสาหกิจทั้งหมด