xs
xsm
sm
md
lg

OECD ชี้สหรัฐ, ญี่ปุ่นจะนำเศรษฐกิจกลุ่มจี-7 ฟื้นตัวขณะยูโรโซนย้งล้าหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) แถลงเมื่อวานนี้ว่า สหรัฐและญี่ปุ่นกำลังเป็นผู้นำการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วในขณะที่ยูโรโซนล้าหลังในด้านนี้
        นอกจากนี้ OECD ยังประกาศเตือนอีกด้วยว่า นักลงทุนในตลาดการเงินอาจจะลงทุนมากเกินไปแล้วตามการคาดการณ์ที่ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
        OECD ระบุว่า ถึงแม้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือจี-7 มีแนวโน้มเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้นมาแล้ว ขณะนี้ก็ยังเร็วเกินไปที่ธนาคารกลางจะยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน
        นายปิแอร์ คาร์โล ปาโดอัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ OECD กล่าวว่า"สิ่งที่สำคัญก็คือว่า เราคาดการณ์ในทางบวกในระดับปานกลาง โดยเราคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น     เราคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตมากยิ่งขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการใหม่ และเราคาดว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะเติบโตมากยิ่งขึ้น"
        OECD คาดว่า เศรษฐกิจกลุ่มจี-7 จะเติบโตเฉลี่ย 2.4% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากเศรษฐกิจหดตัว 0.5% ในไตรมาส 4/2012
        OECD คาดว่า เศรษฐกิจกลุ่มจี-7 อาจเติบโตราว 1.8% ในไตรมาส 2/2013
        ในขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมาบ้างนั้น นายปาโดอันก็กล่าวเตือนว่า มีความ "ไม่สอดคล้องกัน" มากยิ่งขึ้นระหว่างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเปราะบาง กับตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะเฟื่องฟู
        นายปาโดอันกล่าวว่า "สิ่งนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า มีการลงทุนแบบเสี่ยงสูงมากเกินไปในบางรูปแบบ ซึ่งรวมถึงวิธีการใหม่ในการแสวงหาอัตราผลตอบแทนในตลาด และสิ่งนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาบางประการในอนาคต"
        OECD คาดว่า สหรัฐจะเป็นผู้นำในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเศรษฐกิจสหรัฐอาจขยายตัว 3.5% ในไตรมาสแรก และขยายตัว 2.0% ในไตรมาส 2
        มาตรการใหม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโต 3.2% ในไตรมาสแรก และ 2.2% ในไตรมาส 2
        ส่วนในยูโรโซนซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 17 ประเทศนั้น แต่ละประเทศอาจจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแตกต่างจากกันอย่างรุนแรง โดยคาดกันว่าเศรษฐกิจเยอรมนีที่หดตัวลงในช่วงปลายปี 2012จะเติบโตขึ้น 2.3% ในไตรมาสแรก และ 2.6% ในไตรมาส 2
        ส่วนเศรษฐกิจฝรั่งเศสมีแนวโน้มหดตัวลง 0.6% ในไตรมาสแรกและจะสามารถออกจากภาวะถดถอยได้ในไตรมาส 2 โดยฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของยูโรโซน
        ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอิตาลีมีแนวโน้มลดระดับลง โดยเศรษฐกิจอิตาลีมีแนวโน้มหดตัวลง 1.6% ในไตรมาสแรก และหดตัวลง 1.0%ในไตรมาส 2
        นายปาโดอันกล่าวว่า ยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะไม่บรรลุเป้าหมายด้านยอดขาดดุลสาธารณะในปีนี้ แต่ยูโรโซนยังคงมีความมุ่งมั่นในการปรับลดยอดขาดดุลเชิงโครงสร้างต่อไป โดยสิ่งนี้จะช่วยลดการแกว่งตัวในวัฏจักรธุรกิจ
        นายปาโดอันกล่าวว่า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จึงมีเหตุผลสนับสนุนในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และอีซีบีอาจจำเป็นต้องส่งสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงความตั้งใจในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
        OECD แสดงความพึงพอใจต่อแผนการของญี่ปุ่นในการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น และระบุว่าสหรัฐมีความจำเป็นลดน้อยลงในการผ่อนคลายนโยบายลงอีก
        นายปาโดอันกล่าวว่า "ในสหรัฐนั้น ผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ต่อไปอาจจะลดน้อยลง ในขณะที่ต้นทุนของการดำเนิน QE ต่อไปอาจจะเพิ่มสูงขึ้น"
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น