xs
xsm
sm
md
lg

‘สายสัมพันธ์สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น’ ถูกกัดกร่อนด้วย ‘ความระแวงสงสัย’ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: คาซูฮิโกะ โตโก

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Suspicion undermines US-Japan ties
By Kazuhiko Togo
07/05/2014

ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนใดๆ เลยว่า การเดินทางมาเยือนโตเกียวของ บารัค โอบามา ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตระเวนเยือน 4 ประเทศเอเชียของเขา ได้ช่วยอะไรจริงจังในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น การที่ประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้มีรู้สึกความไม่พอใจต่อคำพูดอันน่าตกใจของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เกี่ยวกับเรื่องการเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิของเขา ตลอดจนความระแวงสงสัยเกี่ยวกับแรงจูงใจของสหรัฐฯที่พยายามผลักดันให้เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นหันกลับมาคืนดีกัน คือ 2 เรื่องสำคัญที่สุดในบัญชีว่าด้วยปัจจัยด้านลบซึ่งบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในกันและกัน รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าประเทศทั้งสองยังมีงานต้องทำอีกมากมายนักในการเป็นพันธมิตรกันของพวกเขา

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก*

การเดินทางตระเวนเยือน 4 ประเทศเอเชียเมื่อเร็วๆ นี้ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีความสำเร็จอันสำคัญหลายประการ แต่ถ้าหากเราตั้งคำถามขึ้นมาว่า การเดินทางของเขาเที่ยวนี้ได้ส่งผลอย่างสำคัญหรือไม่ ในการเพิ่มเสริมกระชับความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันอย่างแท้จริงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กับ ประธานาธิบดีโอบามา เราก็คงจะพบว่ายังมีปัญหาอันคลุมเครืออยู่อีกมากมาย จนเกินกว่าที่จะให้คำตอบในทางยืนยันอย่างชัดเจนมั่นอกมั่นใจได้

สำหรับฝ่ายญี่ปุ่นแล้ว ส่วนที่เป็นผลบวกที่สุด ก็คือคำแถลงของโอบามาในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนร่วมกับอาเบะเมื่อวันที่ 24 เมษายน และถ้อยคำภาษาที่ใช้อยู่ในคำแถลงร่วมว่าด้วยหมู่เกาะเซงกากุ (Joint Statement on the Senkakus) ของผู้นำทั้งสอง โดยเฉพาะช่วงที่ระบุว่า “พันธกรณีต่างๆ (ของฝ่ายสหรัฐฯ) เหล่านี้ ย่อมครอบคลุมถึงดินแดนทั้งหมดที่อยู่ในการบริหารปกครองของญี่ปุ่น โดยรวมถึงหมู่เกาะเซงกากุด้วย ภายใต้บริบทดังกล่าวนี้ สหรัฐฯจึงขอคัดค้านการกระทำแต่เพียงฝ่ายเดียวทุกๆ อย่าง ซึ่งมุ่งที่จะบ่อนทำลายการบริหารปกครองหมู่เกาะเซงกากุของญี่ปุ่น” ถ้อยคำภาษาเช่นนี้ทั้งทรงพลังทั้งคมคายด้วยวาทศิลป์

อย่างที่ตัวประธานาธิบดีโอบามาเองก็ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ นี่ไม่ได้เป็นนโยบายใหม่ หากแต่เป็นคำแถลงอันชัดเจนกระจ่างแจ้งและตรงไปตรงมายิ่งกว่าที่เคยปรากฏมาในอดีต ยิ่งเมื่อพิจารณาโดยต่อเชื่อมกับข้อตกลงที่สหรัฐฯเพิ่งทำไว้กับฟิลิปปินส์ด้วยแล้ว (1) คำแถลงนี้จึงเป็นการส่งข้อความป่าวประกาศต่อทั่วโลกว่า ปัจจัยที่กำลังรบกวนสร้างปัญหาให้แก่ความมั่นคงในเอเชียตะวันออกมากที่สุดในเวลานี้ ก็คือ การที่จีนกำลังแสดงท่าทีเหมือนกับเตรียมพร้อมที่จะใช้กำลังมาแก้ไขคลี่คลายความขัดแย้ง แทนที่จะพึ่งพาอาศัยการสนทนาและการเจรจากัน

เนื่องจากตามความคิดเห็นของผมแล้ว เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงข้อวิตกกังวลทางด้านความมั่นคงที่สำคัญที่สุดสำหรับญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อวิตกกังวลของแทบทุกประเทศในภูมิภาคแถบนี้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ผมจึงมีความรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ ต่อความกล้าหาญและความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของโอบามา ในการออกคำแถลงที่ไร้ความกำกวมคลุมเครือใดๆ ถึงขนาดนี้ นอกจากนั้น การที่โอบามาแสดงความประทับใจต่อการที่อาเบะตัดสินใจจัดตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) ของญี่ปุ่นขึ้นมา และการที่เขาให้ความสนับสนุนต่อความพยายามของ อาเบะ ในการใช้สิทธิแห่งการป้องกันร่วมกัน ยังเท่ากับเป็นการหนุนหลังอย่างแข็งแกร่งให้แก่นโยบายด้านความมั่นคงและด้านกลาโหมของอาเบะ

อย่างไรก็ดี ผมมีความสงสัยไม่แน่ใจว่า ญี่ปุ่นและอาเบะได้มีการตอบสนองอย่างไรในประเด็นปัญหาประการอื่นๆ รายงานข่าวทางหนังสือพิมพ์ทั้งหลายทั้งปวงทั้งที่ออกมาก่อนหน้าและระหว่างการเยือนของโอบามาเที่ยวนี้ ล้วนแต่บ่งชี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับประธานาธิบดีโอบามา ที่จะต้องผลักดันสร้างความก้าวหน้าอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังให้แก่ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership ใช้อักษรย่อว่า TPP) แล้วเขาประสบความสำเร็จหรือเปล่า? ถ้อยคำภาษาในคำแถลงร่วมที่ออกมาภายหลังการเจรจาหารือระหว่างโอบามากับอาเบะในคราวนี้ เขียนเอาไว้ว่า “พวกเราสามารถที่จะระบุถึงเส้นทางเดินต่อไปสำหรับประเด็นปัญหาทวิภาคีสำคัญๆ ในการจัดทำข้อตกลง TPP นี่เป็นหลักหมายอันสำคัญประการหนึ่งในการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลง TPP” ฟังแล้วก็รู้สึกว่าทรงพลังดีอยู่หรอก ทว่ามันยังเป็นนามธรรม ตัวนายกรัฐมนตรีอาเบะนั้นต้องเผชิญกับแรงกดดันจากกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงภายในประเทศที่มีอำนาจมาก และเขาจึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง ซึ่งอาจจะปะทุขึ้นมาได้ถ้าหากเขายินยอมอ่อนข้อตามข้อเรียกร้องของฝ่ายสหรัฐฯ (2)

ถ้าหากฝ่ายสหรัฐฯรู้สึกผิดหวังจากการที่โอบามาไม่สามารถจะได้รับสิ่งที่เขาต้องการสืบเนื่องจากการยืนกรานอย่างไม่ผ่อนปรนของอาเบะแล้ว นี่ก็อาจหมายถึงว่าญี่ปุ่นกำลังเล่นเกมทางการทูตที่มีอันตราย กล่าวคือ อาเบะนั้นได้สิ่งที่เขาต้องการทั้งเรื่องหมู่เกาะเซงกากุและเรื่อง TPP ในขณะที่โอบามากลับไม่สามารถทำให้วัตถุประสงค์หลักของเขากลายเป็นความจริงขึ้นมาได้เลย ตอนนี้อาเบะจึงมีเหตุผลที่จริงจังหนักแน่นแล้ว ในการผลักดันดำเนินการอย่างแข็งขัน เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ฝ่ายญี่ปุ่นสามารถอ่อนข้อให้ได้ในเรื่อง TPP อันจะทางออกซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันของฝ่ายต่างๆ

นอกจากนี้แล้ว คำพูดของอาเบะในตอนท้ายสุดของการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนร่วมกันภายหลังการเจรจาระหว่างเขากับโอบามา โดยที่อาเบะได้กล่าวถึงการเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิของเขานั้น ก็เป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดรวมทั้งความตื่นตระหนกตกใจให้แก่ผู้สังเกตการณ์จำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็รวมทั้งตัวผมเองด้วย คำพูดของเขานี้โดยพื้นฐานแล้วก็เป็นการกล่าวซ้ำสิ่งที่เขาได้เคยแถลงเอาไว้ในวันที่ 26 ธันวาคม 2013 ตอนที่เขาเดินทางไปยังศาลเจ้ายาสุคุนิ เมื่อมองในแง่นี้ เท่ากับว่าเขากล่าวย้ำยืนยันว่านโยบายของเขาในเรื่องยาสุคุนินั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว ทว่ามีหลักฐานอันชัดเจนแจ่มแจ้งว่า การไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิของเขาได้ก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนหวั่นไหวขึ้นมาจริงๆ ในความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น อีกทั้งยังกลายเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่พวกแนวทางแข็งกร้าวของจีนด้วย คำถามที่จะต้องถามกันก็คือ โอบามากับอาเบะได้บรรลุความเข้าใจกันบางอย่างบางประการเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้แล้วหรือยัง ก่อนหน้าที่อาเบะจะเอ่ยปากพูดเรื่องนี้ในที่ประชุมแถลงข่าว?

เพื่อนมิตรและเพื่อนร่วมงานของผมที่เฝ้าชมการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในคราวนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเกี่ยวกับ “ความรู้สึกไม่พอใจ” ที่ปรากฏขึ้นบนใบหน้าของโอบามา ในช่วงที่อาเบะพูดเรื่องศาลเจ้ายาสุคุนิ อะไรหรือที่ทำให้อาเบะต้องเร่งรีบแสดงความเป็นปรปักษ์กับโอบามาในจังหวะเวลาที่ประธานาธิบดีอเมริกันเพิ่งจะออกคำแถลงว่าด้วยหมู่เกาะเซงกากุและการป้องกันร่วมกัน ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นเฝ้าลุ้นเฝ้ารอคอยกันอยู่? ทำไมเขาจึงเสี่ยงที่จะหว่านเพาะความระแวงสงสัยขึ้นภายในใจของโอบามา ในเรื่องเกี่ยวกับ “การก้าวออกไปให้พ้นจากระบอบปกครองยุคหลังสงคราม” (Getting out from Post-War Regime) ซึ่งถือเป็นทิศทางนโยบายอันสำคัญยิ่งของเขา? แล้วทำไมเรื่องที่ทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวดถึงขนาดนี้ จึงแทบไม่ได้มีการพูดถึงกันเอาเลยในญี่ปุ่น?

การที่อาเบะพูดเรื่องเกี่ยวกับยาสุคุนิอย่างไม่เป็นที่คาดหมายกันมาก่อน และการที่โอบามาแสดงความรู้สึกไม่พอใจเรื่องนี้อย่างชัดเจนนั้น ดูเหมือนว่าจะเกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับประเด็นปัญหาอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็เป็นประเด็นปัญหาที่ทรงความสำคัญยิ่งยวดสำหรับญี่ปุ่นและสหรัฐฯเช่นเดียวกัน นั่นคือ เรื่องของรัสเซียและยูเครน ถ้าหากผมอ่านนโยบายว่าด้วยรัสเซีย/ยูเครนของอาเบะได้ถูกต้องแล้ว ผมคิดว่าเวลานี้อาเบะกำลังตัดสินใจที่จะเดินนโยบายเกี่ยวกับรัสเซียในลักษณะของการเดินไต่ไปบนเส้นลวด

โดยที่ในด้านหนึ่งนั้น อาเบะย่อมไม่สามารถที่จะเบี่ยงเบนถอยห่างออกไปจากจุดยืนร่วม ในฐานะของการเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งของกลุ่มจี-7 ( G7 กลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อิตาลี, และแคนาดา –ผู้แปล) ยิ่งกว่านั้นเขายังถูกบังคับให้ต้องรักษาจุดยืนเช่นนี้อีกเปราะหนึ่ง เมื่อคำนึงถึงหลักการที่จะต้องเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน และเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ทว่าถ้าหากความเข้าใจของผมถูกต้องแล้ว อาเบะยังกำลังพยายามที่จะทำความเข้าใจความสลับซับซ้อนของพัฒนาการต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ในยูเครน, รัสเซีย, และไครเมีย ด้วยวิธีการมองภาพแบบองค์รวม ไม่เพียงเท่านั้น เขายังตระหนักเป็นอย่างดีถึงอันตรายอันน่าห่วงกังวลอย่างยิ่งจริงๆ ถ้าหากกระทำการที่จะกลายเป็นการผลักดันรัสเซียให้ไปหาจีน ในวิถีทางที่จะก่อให้เกิดความเป็นพันธมิตรจีน-รัสเซียที่เป็น “ของจริง” ขึ้นมา

หมายเหตุผู้แปล

(1) ข้อตกลงที่สหรัฐฯเพิ่งทำไว้กับฟิลิปปินส์ดังกล่าวนี้ หมายถึง ข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือด้านกลาโหม (Enhanced Defense Cooperation Agreement ใช้อักษรย่อว่า EDCA) ระหว่างสหรัฐอเมริกา กับ ฟิลิปปินส์ ซึ่งลงนามกันที่กรุงมะนิลา ในวันที่ 28 เมษายน 2014 หรือวันเดียวกับที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เดินทางเยือนฟิลิปปินส์ เนื้อหาของข้อตกลงฉบับนี้ เป็นการอนุญาตให้กองทหารสหรัฐฯเข้าถึงและใช้พื้นที่ต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ ตลอดจนเข้าถึงและใช้สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งกองทัพฟิลิปปินส์เป็นเจ้าของและเป็นผู้ควบคุม ตามคำเชื้อเชิญของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในข้อตกลงมีบัญญัติเอาไว้ชัดเจนว่า สหรัฐฯจะไม่ดำเนินการปรากฏตัวทางทหารอย่างถาวรหรือตั้งฐานทัพในฟิลิปปินส์ รวมทั้งยังมีข้อห้ามไม่ใช้นำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามายังฟิลิปปินส์ด้วย ข้อตกลง EDCA
นี้กำหนดอายุเบื้องต้นเอาไว้ 10 ปี แต่สามารถต่ออายุได้ (ข้อมูลจาก Wikipedia)

(2) สิ่งที่ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯยังตกลงกันไม่ได้ และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการจัดทำข้อตกลง TPP อยู่ในเวลานี้ ก็คือ ข้อเรียกร้องของฝ่ายสหรัฐฯที่จะให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดสินค้าการเกษตร แต่เนื่องจากเกษตรกรญี่ปุ่นนั้นเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) ของ อาเบะ จึงทำให้อาเบะพยายามหลีกเลี่ยงไม่แตะต้องตัดลดอัตราภาษีนำเข้าสูงลิ่ว ที่ญี่ปุ่นเก็บจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของต่างประเทศ เป็นต้นว่า ข้าว, ข้าวสาลี เพราะกลัวว่าจะเสียฐานเสียงทรงอิทธิพลนี้ไป (ดูรายงานข่าวการเจรจาระดับรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในช่วงที่โอบามาเยือนญี่ปุ่น ได้ที่ http://online.wsj.com/news/articles/SB10001424052702304518704579523290746402288)

คาซูฮิโกะ โตโก เป็นผู้อำนวยการของสถาบันเพื่อกิจการโลก (Institute for World Affairs) ณ มหาวิทยาลัยเกียวโต ซังเงียว (Kyoto Sangyo University) และเป็นอดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเนเธอร์แลนด์

ข้อเขียนนี้มาจาก “แพกเน็ต” (PacNet) จดหมายข่าวของ โปรแกรม แปซิฟิกฟอรัม (Pacific Forum) แห่ง ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) กรุงวอชิงตัน
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น