xs
xsm
sm
md
lg

‘สายสัมพันธ์สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น’ ถูกกัดกร่อนด้วย ‘ความระแวงสงสัย’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: คาซูฮิโกะ โตโก

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Suspicion undermines US-Japan ties
By Kazuhiko Togo
07/05/2014

ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนใดๆ เลยว่า การเดินทางมาเยือนโตเกียวของ บารัค โอบามา ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตระเวนเยือน 4 ประเทศเอเชียของเขา ได้ช่วยอะไรจริงจังในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น การที่ประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้มีรู้สึกความไม่พอใจต่อคำพูดอันน่าตกใจของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เกี่ยวกับเรื่องการเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิของเขา ตลอดจนความระแวงสงสัยเกี่ยวกับแรงจูงใจของสหรัฐฯที่พยายามผลักดันให้เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นหันกลับมาคืนดีกัน คือ 2 เรื่องสำคัญที่สุดในบัญชีว่าด้วยปัจจัยด้านลบซึ่งบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในกันและกัน รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าประเทศทั้งสองยังมีงานต้องทำอีกมากมายนักในการเป็นพันธมิตรกันของพวกเขา

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

วิทยุ “เสียงรัสเซีย” (Voice of Russia) (3) ซึ่งว่ากันว่าเป็นสื่อที่สะท้อนทัศนะความคิดเห็นของวังเครมลินนั้น กำลังส่งสัญญาณว่ามีความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการผูกพันธมิตรกับอิหร่าน เรื่องนี้หมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการจัดตั้งแกนอักษะปักกิ่ง-มอสโก-เตหะราน (Beijing-Moscow-Teheran axis) ขึ้นมา ซึ่งย่อมจะเป็นฝันร้ายชวนขวัญผวาในทางยุทธศาสตร์สำหรับ “โลกตะวันตก” โดยแท้ สำหรับจุดยืนในทางภูมิรัฐศาสตร์ของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ตรงบริเวณขอบของผืนแผ่นทวีปยูเรเชีย (Eurasian continent) บวกกับฐานะในทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ระหว่างค่านิยมแบบ “ตะวันตก” กับค่านิยมแบบ “ญี่ปุ่น” (ทำนองเดียวกับรัสเซียที่ถูกลากถูกดึงระหว่างค่านิยมแบบ “ตะวันตก” กับค่านิยมแบบ “ชนชาวสลาฟ”) ทำให้ญี่ปุ่นสามารถที่จะยื่นมือแห่งการชักชวนให้สนทนากันเข้าไปหารัสเซียได้ ทั้งนี้เพื่อที่จะไม่ให้ปูตินเกิดการเบี่ยงเบนออกไปจากหลักการพื้นฐานต่างๆ ของกลุ่มจี-7 จนไกลเกินไป

คำพูดของประธานาธิบดีโอบามา ในระหว่างการแถลงข่าวร่วมคราวนี้ ก่อให้เกิดความประทับใจ (ซึ่งอาจจะเป็นความประทับใจที่ผิดๆ) ขึ้นมาว่า ถ้าหากจีนใช้กำลังอำนาจเอากับหมู่เกาะเซงกากุแล้ว เขาก็จะตีค่าว่าเป็นเรื่องร้ายแรงพอๆ กับการที่รัสเซียใช้กำลังอำนาจอยู่ในไครเมียและยูเครน เรื่องนี้นับเป็นการเปรียบเทียบเชิงวิเคราะห์ที่มีอันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าหากขยายความกันจนเกินเลยแล้ว มันก็อาจจะถึงขั้นกลายเป็นการเที่ยวมองหาคำทำนายเพียงเพื่อที่จะทำให้ตนเองพึงพอใจ อาเบะควรที่จะอธิบายจุดต่างๆ เหล่านี้ให้โอบามาทราบ และพยายามเสาะแสวงหาความเข้าอกเข้าใจภายในกลุ่มจี-7 ว่า ญี่ปุ่นน่าจะเป็นประเทศที่เหมาะสมที่สุดในการเปิดการสนทนากับรัสเซีย

ทว่ามีเงื่อนไขอยู่ประการหนึ่งที่อาเบะจะต้องระมัดระวังเอาไว้ให้จงหนัก นั่นคือ เขาควรทำให้โอบามาบังเกิดความไว้อกไว้ใจอย่างเต็มที่ว่า ญี่ปุ่นไม่ได้กำลังเห็นแก่ตัวขบคิดถึงเพียงวิธีที่จะคลี่คลายแก้ไขปัญหา “ดินแดนทางภาคเหนือ” (Northern Territories) (4) ซึ่งตนเองมีอยู่กับรัสเซียเท่านั้น เรื่องที่รัสเซียกับญี่ปุ่นจะตกลงแก้ปัญหาดินแดนทางภาคเหนือนี้ อาจจะเกิดขึ้นมาจริงๆ ก็ได้ แต่ควรที่จะเป็นผลลัพธ์แห่งการคาดคำนวณเชิงยุทธศาสตร์ในวงกว้างของญี่ปุ่น สำหรับตรงจุดหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่งยวดตรงนี้ การบ่มเพาะความระแวงสงสัยเพิ่มมากขึ้นเอาไว้ในความคิดของโอบามา ย่อมจะเป็นความประพฤติทางยุทธศาสตร์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับอาเบะ แล้วทำไมเขาจึงจะทำเรื่องเช่นนี้ขึ้นมาอีก?

เรื่องสุดท้ายที่ผมจะขอกล่าวถึง ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญน้อยที่สุดเลย ได้แก่เรื่องที่ว่า ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯควรจะมีความเข้าใจอย่างไรต่อคำแถลงว่าด้วย “หญิงบำเรอกาม” (comfort women) ของประธานาธิบดีโอบามาเมื่อวันที่ 25 เมษายน ขณะที่เขาเดินทางต่อไปเยือนเกาหลีใต้

ประธานาธิบดีโอบามาพูดเอาไว้ดังนี้ “ผมคิดว่าพวกเราไม่ว่าคนไหนก็ตามที เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับบรรดาสตรีบำเรอกาม ซึ่งมีตัวอย่างอยู่ที่นี่ อยู่ในเกาหลีใต้นี้ จะต้องมีความตระหนักยอมรับว่า นี่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างน่าสยดสยองและชั่วร้ายเลวทราม สตรีเหล่านั้นถูกล่วงละเมิดในวิถีทางซึ่งชวนให้เกิดความตระหนกสุดขีด แม้กระทั่งเมื่อมันเกิดขึ้นมาท่ามกลางสงคราม และเป็นการสมควรที่จะต้องรับฟังพวกเธอ เป็นการสมควรที่จะเคารพพวกเธอ และควรที่จะต้องมีการบันทึกเรื่องราวอันถูกต้องและชัดเจนถึงสิ่งที่บังเกิดขึ้นมา”

วัตถุประสงค์ทางการเมืองอันสำคัญที่สุดประการหนึ่งของประธานาธิบดีโอบามา สำหรับการตระเวนเยือนเอเชียของเขาเที่ยวนี้ ได้แก่การส่งเสริมเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลี มีเหตุผลทุกๆ ประการที่จะสันนิษฐานว่า สหรัฐฯกำลังออกแรงบีบคั้นญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน เพื่อให้ญี่ปุ่นปรับปรุงสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับเกาหลีใต้ ไซกิ อากิทางะ (Saiki Akitaka) รองรัฐมนตรีด้านกิจการต่างประเทศ ได้เดินทางไปเยือนกรุงโซลระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม และเมื่อเขากลับมายังโตเกียวในวันที่ 14 มีนาคม อาเบะก็ได้ขึ้นพูดระหว่างการอภิปรายในรัฐสภาว่า “หัวใจของผมกำลังเจ็บปวดเมื่อคิดถึงชะตากรรมของบรรดาสตรีผู้ซึ่งต้องก้าวผ่านความเจ็บปวดอันไม่สามารถบรรยายออกมาได้หวาดไหว ผมก็เหมือนๆ กับนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ ทั้งหมด รวมทั้งคณะรัฐมนตรีของผมด้วย ไม่ได้เคยพิจารณาเพื่อทบทวนแก้ไขคำแถลงโคโนะ (Kono Statement) (5) แต่ประการใด”

หลังจากที่อาเบะประกาศเช่นนี้แล้ว การประชุมซัมมิต 3 ฝ่าย (ระหว่างโอบามา-อาเบะ-พัค กึนฮเย ประธานาธิบดีเกาหลีใต้) จึงได้บังเกิดขึ้นที่กรุงเฮก (วันที่ 25 มีนาคม) รวมทั้งมีการจัดการประชุมทวิภาคีญี่ปุ่น-เกาหลีในระดับเจ้าหน้าที่ (วันที่ 30 มีนาคม) ซึ่งอย่างน้อยที่สุดเรื่องสตรีบำเรอกามก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกัน แล้วก็มีรายงานข่าวเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีซึ่งสรุปว่าอาเบะจะไม่กลับไปทบทวนแก้ไขคำแถลงโคโนะในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่ (วันที่ 1 เมษายน)

ผมยังคงมีความเห็นว่า อาเบะ กับ พัค ควรที่จะเริ่มต้นการพูดจาหารือกันอย่างแท้จริงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ และการหาหนทางคลี่คลายแก้ไขประเด็นปัญหาสตรีบำเรอกามคือเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในขณะที่ยังคงมีสตรีบำเรอกามอีกราวๆ 50 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่การสนทนาดังกล่าวนี้ควรที่จะวางอยู่บนพื้นฐานของการใช้ความพยายามร่วมกัน และไม่ใช่อยู่บนพื้นฐานของการให้อาเบะกล่าวขอโทษแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้มีความจำเป็นที่จะต้องตระหนักยอมรับรู้เรื่องคำแถลงโคโนะปี 1993 ซึ่งอาเบะประกาศแล้วว่าเขาจะเคารพและรักษาคำแถลงนี้เอาไว้ต่อไป ตลอดจนมีความจำเป็นที่จะต้องตระหนักยอมรับรู้เรื่องการประกอบกิจกรรมต่างๆ อันจริงจังและเสียสละในเกาหลีตั้งแต่ปี 1995 จนถึงปี 2002 ของกองทุนสตรีเอเชีย (Asian Women Fund) (6) เรื่องนี้ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีกเมื่อคำนึงถึงว่าสังคมเกาหลียังไม่เคยตระหนักรับรู้เลย เป็นที่หวังกันอย่างจริงใจว่า ข้อความที่โอบามาส่งออกมาจะเป็นที่เข้าอกเข้าใจกันและจะเป็นที่ประทับใจซาบซึ้งกัน ขณะเดียวกับที่จะส่งเสริมสนับสนุนความพยายามแบบสองทางของคณะรัฐบาลในทั้งสองประเทศ

กล่าวโดยสรุปเมื่อมองกันในภาพรวมแล้ว ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนใดๆ เลยว่า การเดินทางมาเยือนของประธานาธิบดีโอบามา ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯบังเกิดความไว้วางใจกันและความเชื่อมั่นในกันและกันเพิ่มมากขึ้น การจัดการกับประเด็นปัญหาเรื่องหมู่เกาะเซงกากุในระหว่างการเจรจาหารือกันนั้น เป็นสิ่งที่สมควรได้รับการยกย่อง แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่ายังไม่สามารถที่จะบรรลุข้อตกลง TPP ได้, ขณะที่คำพูดของอาเบะเกี่ยวกับการไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิของเขาอาจส่งผลในทางทำให้โอบามาเพิ่มความระแวงสงสัยมากขึ้น, รวมทั้งคำพูดของอาเบะเองอาจจะกลายเป็นการบั่นทอนจุดยืนเกี่ยวกับยูเครนของเขาต้องอ่อนแอลงไป, ตลอดจนคำแถลงของโอบามาในกรุงโซลเกี่ยวกับสตรีบำเรอกาม ซึ่งถ้าหากถูกตีความว่าเป็นการบีบคั้นกดดันญี่ปุ่นเพียงฝ่ายเดียวแล้ว ก็อาจจะเป็นการบ่มเพาะสร้างความระแวงข้องใจขึ้นในความคิดของฝ่ายญี่ปุ่น

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ประเทศทั้งสองยังมีงานต้องทำอีกมากมายนักในการทำให้ความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ บังเกิดความมั่นคงเหนียวแน่นและสมควรแก่การไว้วางใจอย่างแท้จริง

หมายเหตุผู้แปล

(3) วิทยุ “เสียงรัสเซีย” (Voice of Russia) เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงภาคภาษาต่างประเทศของรัฐบาลรัสเซีย โดยที่ก่อนหน้านี้ ในยุคของสหภาพโซเวียต หน่วยงานนี้คือ “วิทยุมอสโก” (Radio Moscow) สถานีวิทยุภาคภาษาต่างประเทศของทางการสหภาพโซเวียต

วิทยุเสียงรัสเซียบังเกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งในวันที่ 9 ธันวาคม 2013 เมื่อ วลาดิมีร์ ปูติน ในฐานะประธานาธิบดีรัสเซีย ออกกฤษฎีกาประธานาธิบดี ยุบเลิกฐานะความเป็นหน่วยราชการของวิทยุเสียงรัสเซีย แล้วนำเอาไปรวมกับสำนักข่าว ไร โนโวสติ (RAI Novosti) กลายเป็น สำนักข่าวระหว่างประเทศ รอสซิยา เซก็อดเนีย (Rossiya Segodnya ภาษาอังกฤษคือ Russia Today) อย่างไรก็ตาม ตัวสถานีวิทยุแห่งนี้ยังใช้ชื่อว่า Voice of Russia ต่อไป (ข้อมูลจาก Wikipedia และเว็บไซต์ http://voiceofrussia.com/)

(4) ปัญหา “ดินแดนทางภาคเหนือ” (Northern Territories) หรือกรณีพิพาทหมู่เกาะคูริล (Kuril Islands dispute) เป็นการพิพาทกันระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย ทั้งนี้ กองทหารสหภาพโซเวียตได้เข้ายึดและผนวกดินแดนแห่งนี้ซึ่งประกอบด้วยเกาะ 4 เกาะ เมื่อตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบัน ดินแดนแห่งนี้ตกอยู่ใต้การปกครองบริหารของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนนี้ โดยเรียกชื่อว่า “ดินแดนทางภาคเหนือ” (Northern Territories) (ข้อมูลจาก Wikipedia)

(5) คำแถลงโคโนะ (Kono Statement) หมายถึงคำแถลงของ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น (Chief Cabinet Secretary) โยเฮ โคโนะ (Yohei Kono) ในปี 1993 ภายหลังการศึกษาวิจัยของรัฐบาลเสร็จสิ้นลงโดยมีรายงานข้อสรุปว่า กองทัพสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิญี่ปุ่นได้บังคับให้สตรี ซึ่งเรียกขานกันว่า “สตรีบำเรอกาม” (comfort women) ให้ทำงานในซ่องโสเภณีที่ดำเนินการโดยกองทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ก่อนหน้านี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้เคยปฏิเสธเรื่อยมาไม่ยอมรับว่าสตรีเหล่านี้ถูกบังคับให้ทำงานนี้ จวบจนกระทั่งมีคำแถลงฉบับนี้ออกมา

ในคำแถลงฉบับนี้ โคโนะยอมรับว่า กองทัพสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิญี่ปุ่นได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ในการจัดตั้งสถานที่อำนวยความสะดวกสำหรับการบำเรอกาม กระนั้นก็ตาม ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าคำแถลงฉบับนี้ เป็นการยอมรับด้วยหรือไม่ว่า กองทัพสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิญี่ปุ่นได้ใช้วิธีบังคับโดยตรง ในการกะเกณฑ์และในการหน่วงเหนี่ยวกักขังสตรีเหล่านี้ ทั้งนี้เป็นที่เชื่อกันว่าพวกเอเยนต์จัดหาผู้หญิงบำเรอกามภาคเอกชน (ทั้งที่เป็นเอเยนต์ชาวเกาหลีและชาวญี่ปุ่น) คือผู้ที่ทำหน้าที่นี้เป็นส่วนใหญ่ คำแถลงนี้เป็นที่พอใจของเกาหลีใต้ และยังนำไปสู่การก่อตั้ง “กองทุนสตรีเอเชีย” ขึ้นมาด้วย

อย่างไรก็ดี คำแถลงฉบับนี้ได้ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ของพวกอนุรักษนิยมบางส่วนในญี่ปุ่นมาโดยตลอด ในสมัยแรกที่อาเบะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2007 เขาเคยแถลงว่าเขาไม่เชื่อหรอกว่ามีผู้หญิงถูกบังคับให้เข้าทำงานในซ่องโสเภณีของทหาร เมื่อมาถึงสมัยปัจจุบันของอาเบะ สมาชิกพรรคแอลดีพีของเขาหลายคนก็เปิดอภิปรายถกเถียงถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลชุดนี้จะหาทางศึกษาทบทวนคำแถลงโคโนะ โดยที่ โยชิฮิเดะ ซูกะ (Yoshihide Suga) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน ถึงขนาดแต่งตั้งทีมงานชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ “ภูมิหลัง” ของรายงานฉบับที่เป็นผลให้เกิด “คำแถลงโคโนะ” กันอีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้เกาหลีใต้เป็นอย่างยิ่ง
(ข้อมูลจาก Wipedia)

(6) กองทุนสตรีเอเชีย (Asian Women Fund) เป็นกองทุนที่ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 1994 เพื่อเป็นการชดเชยให้แก่บรรดา “สตรีบำเรอกาม” ในเกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, เนเธอร์แลนด์, และอินโดนีเซีย สตรีเหล่านี้ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ทุกๆ คนต่างได้รับคำขออภัยที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี โทมิอิชิ มุรายามะ ของญี่ปุ่นในเวลานี้ ซึ่งมีข้อความระบุว่า “ด้วยเหตุนี้ ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ผมจึงขออภัยและแสดงความสำนึกผิดด้วยความจริงใจอย่างที่สุดของผมอีกครั้งหนึ่ง ต่อบรรดาสตรีทั้งหมดผู้ต้องตกเป็นสตรีบำเรอกาม ซึ่งต้องผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดอย่างชนิดไม่สามารถคาดคำนวณได้ และต้องบาดเจ็บจากบาดแผลอันรักษาไม่ได้ทั้งในทางกายภาพและในทางจิตใจ กองทุนนี้ได้ยุบเลิกไปในวันที่ 31 มีนาคม 2007 (ข้อมูลจาก Wikipedia)

คาซูฮิโกะ โตโก เป็นผู้อำนวยการของสถาบันเพื่อกิจการโลก (Institute for World Affairs) ณ มหาวิทยาลัยเกียวโต ซังเงียว (Kyoto Sangyo University) และเป็นอดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเนเธอร์แลนด์

ข้อเขียนนี้มาจาก “แพกเน็ต” (PacNet) จดหมายข่าวของ โปรแกรม แปซิฟิกฟอรัม (Pacific Forum) แห่ง ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) กรุงวอชิงตัน
กำลังโหลดความคิดเห็น