xs
xsm
sm
md
lg

101 ปฎิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 57 "พระราชดำรัส-ความสุข"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

     “บุคคลที่นับได้ว่ามีสิ่งต่างๆมากกว่าผู้อื่น สมควรที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือแบ่งปันแก่ผู้ไม่มีอย่างพอเหมาะพอสม และตนเองไม่เดือดร้อน ส่วนผู้ที่ไม่มีก็ควรพยายาม ไม่ควรรอคอยแต่ความช่วยเหลือ หรือ คิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ หากช่วยเหลือกันดังนี้แล้ว บ้านเมืองก็จะสงบสุข”
  
     พระราชดำรัสเนื่องในพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นำองคมนตรีและภริยา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ ณ ห้องประชุม ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช (27 กันยายน พ.ศ.2553)
 
     ทรงเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่พระองค์ท่านได้ทรงประทานพระราชดำรัส เพื่อชี้แนวทางให้พสกนิกรในเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ท่านน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อช่วยให้สังคมมีความ “สงบสุข” ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งอันสืบเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่าง “คนมี” และ “คนไม่มี”
 
     พระองค์ท่านทรงพระปรีชาญาณ และเลือกที่จะไม่ใช้คำว่า “คนรวย” หรือ “คนจน” ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกทางชนชั้นในสังคม  
 
     พระองค์ท่านทรงเตือนสติให้ บุคคลที่มีสิ่งต่างๆมากกว่าคนอื่น รู้จักที่จะเอื้อเฟื้อและแบ่งปัน หรือ “ให้” แก่ผู้อื่น โดยเน้นความพอเหมาะพอสม ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะ ”ขาดหาย” ไปในสังคมไทยในยุคบริโภคนิยม จนทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำขยายกว้างขึ้นทุกทีจนกลายเป็นชนวนที่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมของไทยในช่วงที่ผ่านมา
 
     ขณะเดียวกัน สำหรับคนไม่มี พระองค์ท่านทรงเตือนสติให้พยายามขวนขวายดิ้นรน แทนที่จะรอคอยแต่ความช่วยเหลือ หรือเอาแต่ ”ฟูมฟาย” คิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ
 
     คงไม่มีใครปฏิเสธว่า แนวพระราชดำริของพระองค์ท่านได้ดำเนินการเพื่อเป็น “ต้นแบบ” มาอย่างยาวนาน เห็นได้ชัดจากโครงการตามแนวพระราชดำริ จำนวนมาก ที่พยายามจะส่งเสริมให้ชาวบ้านในท้องถิ่นทุรกันดาร
 
     สามารถที่จะพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้น โดยการรวมกลุ่มและลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง มากกว่าที่จะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือตลอดเวลา
 
     สิ่งที่พระองค์ท่านทรงเน้นย้ำในเรื่องของการช่วยเหลือกันเพื่อทำบ้านเมืองให้สงบสุข ตามแนวพระราชดำรัสนั้น อาจกล่าวได้ว่า “ความสุข”ของคนในชาติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ คนที่มีมากกว่าได้ตระหนักว่า “ความสุขที่แท้จริง คือการให้เพื่อคืนกลับสังคม”ในขณะที่ผู้ไม่มี ก็สามารถมีความสุขได้จาก “ความอุตสาหะพากเพียรของตัวเอง และมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง”
 
     พระราชดำรัสของพระองค์ท่านยังทำให้เราได้ตระหนักว่า ถ้าเราต้องการให้สังคมนี้ดี พวกเราทุกคนก็ต้องร่วมทำกันให้เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล หรือ ใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่จะทำหน้าที่ในส่วนของตนให้เต็มพร้อม เพื่อทำให้เกิดสังคมที่ดีตามที่เราปราถนา 
 
     ทุกวันนี้ มีการศึกษากันอย่างมากว่า ความสุขที่แท้จริงของคนเราอยู่ตรงไหน ซึ่งในอดีตทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นอธิบายให้เราเข้าใจถึง หลักการลดลงของอรรถประโยชน์หน่วยสุดท้าย (Diminishing marginal utility) ซึ่งทำให้เราพอจะเข้าใจได้ว่า เมื่อเราบริโภคอะไรที่มากจนเกินพอดี ประโยชน์ของสิ่งนั้นต่อเราก็จะลดลงเรื่อยๆ
 
     ตามปกติมนุษย์เราจะแสวงหาความมั่นคงเป็นระดับๆ เริ่มตั้งแต่ความมั่นคงด้านรายได้ ความมั่นคงในหน้าที่การงาน ความมั่นคงด้านครอบครัว ความมั่นคงด้านชุมชน และ สุดท้ายคือ ความมั่นคงด้านสุขภาพ หากใครสามารถสร้างความมั่นคงได้ครบทั้งหมดแล้ว ก็จะเริ่มรู้สึกถึง “อิสรภาพ”ในการใช้ชีวิต
 
     แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมในระยะหลังๆ คนที่รวยล้นฟ้าถึงขั้น อภิมหาเศรษฐีจำนวนมากจึงไม่มีความสุข
 
     ในงานวิจัย The Joyless Economy ของ Tibor Scitovsky ตั้งสมมุติฐานว่า คนรวยจำนวนมากไม่มีความสุขในชีวิต เนื่องจากมีความรู้สึกว่าขาดเป้าหมายที่จะทำให้ชีวิตมีความท้าทายใหม่ๆ และเริ่มค้นพบว่า “การตั้งเป้าหมายใหม่ที่จะทำให้คนอื่นมีความสุขนั้น เป็นความสุขที่แท้จริง”       
 
     คงเพราะเหตุนี้จึงทำให้ บรรดา “บิลเลียนแนร์” จำนวนมากของโลก ทั้ง วอร์เรน บัฟเฟตต์ และ บิลล์ เกตส์ จึงพร้อมใจกันในการจัดตั้งมูลนิธิ ทั้งบริจาคเงินตัวเองและเดินสายรณรงค์ เพื่อระดมทุนจากมหาเศรษฐีคนอื่นทั่วโลก เพื่อนำไปให้ความช่วยเหลือให้กับคนยากไร้บนโลกใบนี้
 
     ลองคิดเล่นๆว่าคงดีไม่น้อยหากจะมีมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของเมืองไทย ลุกขึ้นมาทำภารกิจร่วมกันระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุน “เศรษฐีใจบุญ” ให้ได้สักห้าหมื่นล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้ไปสนับสนุนการจัดตั้ง กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้น
 
     เม็ดเงิน ห้าหมื่นล้านบาท อาจจะหมายถึงการรณรงค์ให้บรรดามหาเศรษฐี 500 อันดับแรกของไทยบริจาคเงินกันคนละ 100 ล้านบาท แต่ในทางตรงข้ามเม็ดเงินจำนวนนี้สามารถที่จะนำไปพัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชนได้ถึงกว่า 5 หมื่นแห่ง โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของภาครัฐ
 
     แนวคิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝัน หากภาครัฐบาลจะสนับสนุน โดยการให้สิทธิประโยชน์บางอย่าง เช่น การนำเงินบริจาคไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลเป็นกรณีเพิเศษ เนื่องจากจัดว่าเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม หรือCSR-Corporate Social Responsibility พร้อมไปกับการเชิดชูเกียรติ หรือการให้สิทธิประโยชน์ของภาครัฐบางอย่าง
 
     ผ่านมา ถึงแม้จะมีเศรษฐี และองค์กรหลายแห่ง จัดทำโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมกันเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ก็ยังมีลักษณะกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง โดยหวังผลในการสร้างภาพลักษณ์มากจนทำให้ขาดพลังที่จะขับเคลื่อน หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญที่จะทำให้สังคมมีความสุขอย่างแท้จริง
 
     คงได้แต่หวังว่า รัฐบาลของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปจัดทำเป็นนโยบาย และปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะสิ่งนี้อาจจะเป็นคำตอบที่แท้จริงสำหรับสังคมไทย ในการที่จะปฏิรูปสังคมให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมลดลงได้อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น