xs
xsm
sm
md
lg

จราจรหนึบดันผู้โดยสารรถใต้ดินเพิ่ม BMCL คาดปี 56 รายได้แตะ 2.4 พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


BMCL ตั้งเป้ารายได้ปี 56 แตะ 2.4 ลบ. เผยผู้โดยสารโตกว่า 10% หรือเฉลี่ย 2.6 แสนคนต่อวัน อานิสงส์รถคันแรกทำจราจรหนึบ คนหนีใช้รถใต้ดินแทน “ชัยวัฒน์” เผยรอ รฟม.เจรจาสัมปทานเดินรถ 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) เชื่อรัฐต้องเลือกแนวทางที่ดีที่สุดอยู่แล้ว พร้อมจับมือ รฟม.รณรงค์ประหยัดพลังงานงดใช้บันไดเลื่อนขาลงนอกชั่วโมงเร่งด่วนทดลอง 3 เดือนก่อนประเมินผล

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL เปิดเผยว่า การดำเนินงานในปี 2556 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารและรายได้จะเติบโตอย่างมาก โดยปัจจุบันในวันทำการจันทร์-ศุกร์ ผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 2.6 แสนคนต่อวัน โดยช่วงเทศกาลไทยเที่ยวไทยผู้โดยสารสูงสุดถึง 3 แสนคนต่อวัน คาดว่าปี 2556 จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่ต่ำกว่า 10% แน่นอน ส่วนรายได้ทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 2,300-2,400 ล้านบาท เฉลี่ยประมาณ 6 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มจากปีก่อนที่มีรายได้ประมาณ 2,100 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 4 ล้านบาทต่อวัน คาดว่าจะส่งผลให้การขาดทุนลดลงจากปีที่ผ่านมา

“จำนวนผู้โดยสารที่เติบโตเพิ่มขึ้นต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการจราจรที่ติดขัดมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลกระทบจากรถคันแรก ผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่ใช้รถไฟฟ้าเดินทางเพราะต้องการความตรงต่อเวลา จึงหันมาใช้รถไฟฟ้าแทนขนส่งอื่นมากขึ้น” นายชัยวัฒน์กล่าว

ส่วนการการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) ระยะทาง 1 กิโลเมตร ช่วงต่อเชื่อมกับรถไฟใต้ดิน MRT (หัวลำโพง-บางซื่อ) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะให้สัมปทานกับ BMCL ในรูปแบบรัฐบาลและเอกชนลงทุนร่วมกัน (Public private Partnership : PPP) Net Cost เช่นเดียวกับสัมปทานรถไฟฟ้าใต้ดินในปัจจุบันนั้นนายชัยวัฒน์กล่าวว่าในฐานะเป็นผู้ให้บริการเชื่อว่าแนวทางที่รัฐเลือกจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด แต่ขณะนี้ยังตอบอะไรไม่ได้เพราะต้องคุยรายละเอียดร่วมกันก่อนซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน)

โดยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม รฟม.และ BMCL ได้ร่วมกันเปิดโครงการ “ร่วมใจอนุรักษ์พลังงานเพื่อสังคม” (SAVE ENERGY WE ALL CAN DO) ซึ่ง น.ส.รัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.กล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งระบบใช้ไฟฟ้าคิดเป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งการรณรงค์จะปิดบันไดเลื่อนขาลงบางตัวในแต่ละสถานีหรือประมาณ 70-80 ตัว จากบันไดเลื่อนขาลงที่มีทั้งหมดกว่า 200 ตัว

โดยจะเลือกปิดตัวที่มีผู้โดยสารใช้น้อยและปิดช่วงนอกเวลาเร่งด่วนคือ เวลา 09.30-16.30 น. ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2556 เป็นเวลา 3 เดือนจากนั้นจะประเมินผลที่เกิดขึ้น ส่วนค่าใช้จ่ายลดลงจากการประหยัดการใช้ไฟฟ้านั้น รฟม.และ BMCL จะนำไปช่วยเหลือสังคม ในกิจกรรม (CSR) ต่อไป

“หลักการคือจะงดใช้บันไดเลื่อนขาลงทุกสถานี แต่ไม่ทุกตัว ซึ่งนอกจากจะลดการใช้งานของบันไดเลื่อนที่ปกติต้องเปิดตลอด 19 ชั่วโมงต่อวันแล้วเชื่อว่าจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้แน่นอน ส่วนระบบไฟฟ้าแสงสว่างไฟฟ้าสำหรับการเดินที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยจะไม่ปรับลดจากมาตรฐาน ซึ่งในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคมนี้จะมีการงดใช้บันไดเลื่อนขาลงตามโครงการ “ปิดไฟ 1 ชั่วโมงเพื่อลดโลกร้อน” ช่วง 20.30-21.30 น. เป็นเวลา 1 ชั่วโมง” น.ส.รัชนีกล่าว

นอกจากนี้ รฟม.ได้แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป จะปรับขึ้นอัตราค่าบริการจอดรถยนต์ ในอาคารและลานจอดรถบริเวณสถานีรถไฟฟ้าในรอบ 5 ปีสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าจาก 10 บาท/2 ชั่วโมง เป็น 15 บาท/2 ชั่วโมง ส่วนผู้ไม่ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน ปรับจาก 30 บาท/ชั่วโมง เป็น 40 บาท/ชั่วโมง ยกเว้นลานจอดรถสถานีเพชรบุรี สถานีสุขุมวิทและสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เก็บค่าบริการ 50 บาท/ชั่วโมง ส่วนผู้ใช้บริการจอดรถยนต์รายเดือน บริเวณอาคารจอดรถ 9 ชั้น สถานีลาดพร้าว คิดอัตราค่าบริการ 1,250 บาท/เดือน และบริเวณลานจอดรถทุกแห่ง คิดอัตราค่าบริการ 1,500 บาท/เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น