xs
xsm
sm
md
lg

101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 52 "ประกันชีวิตกับการออม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

     เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ประกาศแผนพัฒนาธุรกิจประกันภัยฉบับที่ 2 (พ.ศ.2553-2557) โดยตั้งเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะผลักดันให้คนไทยไม่ต่ำกว่า 40% ทำประกันชีวิต คิดเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท หรือ 6% ของ จีดีพี หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
 
     ปัจจุบันปี 2553 สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ จีดีพี ยังอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.2% ของมูลค่า จีดีพี ที่มีมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านบาท
 
     ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ คปภ.กล้าตั้งเป้าหมายที่ท้าทายสูงขนาดนี้ เพราะเชื่อว่า การที่คนไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากหลายๆปัจจัย ทั้งจากภัยธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคระบาด คนไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากสภาพความขัดแย้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่มีความรุนแรงมากขึ้น
 
     นอกจากนี้ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนสูงก็ทำให้ วิถีชีวิตของผู้คนมีความไม่มั่นคงในเรื่องของรายได้ที่อาจพลิกผันได้ตลอดเวลา 
 
     ยิ่งไปกว่านั้น สังคมไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัยทำให้ จึงจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้คนไทยสนใจในเรื่องของการบริหารความเสี่ยง เพื่อมีภูมิคุ้มกันในอนาคตมากขึ้น
 
     ถึงแม้ปัจจุบันจะมีความพยายาม ที่จะนำรูปแบบของรัฐสวัสดิการมาใช้เพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่กลไกการบริหารของรัฐยังมีปัญหาข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ที่อาจจะต้องบริหารงบประมาณให้เกิดความสมดุล
  
     แผนประกันภัยนี้เป็นแผนระดับชาติด้านประกันภัย ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลเอกชนในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประกันภัยของไทย จากการวัดขนาดความสำคัญของธุรกิจประกันภัย ในระบบเศรษฐกิจหรือสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อจีดีพีในปี 2552 มีสัดส่วนแค่ 4.07% น้อยกว่าอัตราเฉลี่ยประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 6% ซึ่งในปีที่ผ่านมาคนไทยทำประกันแค่ 25.37% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
 
     ปัจจุบันไทยมีจำนวนประชากร 67 ล้านคน เป็นวัยทำงาน 53 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีงานทำแล้วประมาณ 39 ล้านคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มีระบบประกันสังคม 9.3 ล้านคน ข้าราชการ 4.9 ล้านคน อาชีพอิสระซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร และรับจ้างทั่วไป 24.8 ล้านคน ที่เหลืออีก 14 ล้านคน อยู่ในวัยการศึกษาและรอหางานทำ 
 
     มาตรการในการที่จะทำให้สัดส่วนคนไทยทำประกันเพิ่มขึ้นจาก 25.37% ให้กลายเป็น 40% นั้น คือการผลักดันให้ กลุ่มเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย ที่มีสูงถึงประมาณ 24.8 ล้านคน เข้าสู่ระบบการประกันมากขึ้น ในรูปแบบของ “ไมโครอินชัวรันซ์” โดยจะมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องประกัน และการออมเพิ่มมากขึ้น
 
     เป้าหมายตามแผนฯดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะการมุ่งที่จะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออมผ่านระบบประกันชีวิต การประกันสุขภาพ และ การประกันภัย เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาถึงแม้คนไทยจะรู้สึกใกล้ชิดกับเรื่องของการประกันชีวิตมานานแสนนานมาแล้ว แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะมีความรู้และเข้าใจถึงรูปแบบของการประกันชีวิตที่มีการเสนอขายกันอยู่ในปัจจุบัน
มันอาจจะเป็นความจริงที่แสนเจ็บปวด และทำให้วงการธุรกิจประกันไม่อยากจะแตะต้องมากนักก็คือ ระบบโครงสร้างทางการตลาดในปัจจุบันที่ผู้ประกอบธุรกิจยังคงผูกติดกับ “ตัวแทนประกันชีวิต” ซึ่งเป็นกลไกและช่องทางหลักในการเข้าถึงผู้ทำประกัน  
 
     ภาพลักษณ์ที่ติดลบของตัวแทนประกันชีวิต ที่มีแรงจูงใจจากค่า “คอมมิชชั่น” ในการขายและการวางโครงข่ายการขายแบบ “ลูกโซ่” ทำให้เกิดสภาพที่มีการเสนอขาย “กรมธรรม์” ให้กับลูกค้าในลักษณะ Hit & Run หรือ “ตีหัวเข้าบ้าน”มากกว่าจะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา หรือเลือกแบบกรมธรรม์ที่เหมาะสมกับแต่ละคน ทำให้คนส่วนใหญ่พยายามที่จะหลีกให้ไกลจาก “ตัวแทนขายประกัน” 
 
     เพราะอย่างนี้ สิ่งสำคัญที่นอกเหนือจากการให้ความรู้กับประชาชนโดยทั่วไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่วงการธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยต้องเร่งแก้ภาพลักษณ์ก็คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการขายประกันให้ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้ทำประกันเพิ่มมากขึ้น
 
     ภายใต้บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ และ การตื่นตัวของโลกในยุค “สังคมเครือข่าย” Social Media Network การทำตลาดเพื่อให้ความรู้ในเรื่องของธุรกิจประกันชีวิต อาจจะสามารถใช้ช่องทางผ่านสื่อที่หลากหลาย รวมไปจนถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการซื้อกรมธรรม์ที่สามารถจะซื้อผ่านช่องทาง “ออนไลน์” โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา “ตัวแทนประกันชีวิต” เหมือนในอดีต
 
     สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ โดยทั่วไป กรมธรรม์ประกันชีวิตมักจะมีส่วนประกอบหลักๆ 3 ส่วน คือ การประกันชีวิตและอุบัติเหตุ การประกันสุขภาพและรักษาพยาบาล และ การออมเพื่อสะสมทรัพย์
 
     ในระยะหลังๆ เริ่มมีบางบริษัทที่เสนอกรมธรรม์จ่ายคืนเป็นบำนาญ แทนที่จะจ่ายคืนเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียว โดยอาจจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเมื่อครบกำหนด และทยอยจ่ายในรูปคล้ายบำนาญเป็นรายปีไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้เอาประกันจะเสียชีวิต ซึ่งกรมธรรม์ในลักษณะนี้ก็ช่วยสร้างความอุ่นใจสำหรับผู้เอาประกันว่าจะมีเงินใช้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต โดยไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่นเมื่อถึงวัยเกษียณ
  
     คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ธุรกิจประกัน เป็นสินค้าบริการที่มีลักษณะพิเศษ คือ ถึงแม้เป็นการคุ้มครองความเสี่ยงที่ทุกคนควรมี แต่ทุกคนก็ภาวนาที่ไม่ต้องมีโอกาสจะใช้ ซึ่งหากคำภาวนาเป็นผลสำเร็จ แทนที่จะดีใจ กลับเสียดายเม็ดเงินที่สูญเสียไปจากการทำประกัน 
 
     การนำรูปแบบของการประกันมาผูกโยงกับการออมจึงดูจะเป็นแรงจูงใจที่ดี เพราะทำให้ผู้เอาประกันไม่เกิดความรู้สึกเสียดายเม็ดเงินที่จ่ายไปเพื่อการคุ้มครอง แต่จะดียิ่งขึ้นไปอีกไหม หากจะนำไปผูกโยงกับผลตอบแทนจากการนำเม็ดเงินไปลงทุนให้งอกเงยมากขึ้น ซึ่งเป็นโจทก์ที่ท้าทายสำหรับธุรกิจประกันภัยในอนาคต
 
     แนวคิดในการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่าง “ยูนิตลิงก์” ที่ไปผูกโยงกับ การนำเม็ดเงินบางส่วนไปลงทุนในกองทุนรวม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น ดูจะเป็นการตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
 
     อย่างไรก็ตามอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ และเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ก็คือ ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนสูงถึง 24.8 ล้านคน ยังคงเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย แผนพัฒนาประกันภัยฯจะบรรลุตามเป้าหมายได้นั้น รัฐบาลคงจะต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุนอย่างมากทีเดียว ซึ่งบางทีอาจจะต้องนำไปผูกโยงกับแนวคิดในเรื่องของ พรบ.การออมแห่งชาติ ที่กำลังเตรียมการอยู่ในเวลานี้ไปในคราวเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น