xs
xsm
sm
md
lg

ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ยังคงไร้ทิศทางที่ชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างไม่สม่ำเสมอในจีนส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบาก โดยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทางการจีนรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปแตะจุดสูงสุดรอบ 10 เดือน
ในเดือนก.พ. แต่ผลผลิตภาคโรงงานและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคอยู่ในระดับอ่อนแอเกินคาด
        สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ปรับตัวขึ้น 3.2 % ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้วและอยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 3.0 % ส่วนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม (IP)เติบโตขึ้น 9.9 % ต่อปีในเดือนม.ค.-ก.พ. ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2012 โดยเดือนดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในจีน
        NBS รายงานว่า การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (FAI) พุ่งขึ้น 21.2 %ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 12 เดือนและแสดงให้เห็นว่า FAI เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปีนี้ส่วนยอดค้าปลีกในจีนเพิ่มขึ้น 12.3 % ต่อปีในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นอัตรา
การเติบโตที่ต่ำที่สุดสำหรับช่วง 2 เดือนแรกนับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา
        นายซู เกา หัวหน้านักวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคของบล.เอเวอร์ไบรท์กล่าวว่า "ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนอยู่ในกระบวนการของการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย และยังคงอยู่ในภาวะเปราะบาง โดยเศรษฐจีนเผชิญกับความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก"
        ปัจจัยสำคัญที่สร้างความไม่แน่นอนคือประเด็นที่ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในครั้งนี้บิดเบือนไปมากเพียงใดอันเนื่องจากผลกระทบจากช่วงวันหยุดตรุษจีนโดยช่วงตรุษจีนตรงกับเดือนก.พ.ในปีนี้ แต่ตรงกับเดือนม.ค.ในปีที่แล้ว โดยช่วงตรุษจีนเป็นช่วงที่โรงงานในจีนมักจะปิดทำการเป็นเวลา 2 สัปดาห์
        มีความเสี่ยงที่จีนอาจจะต้องคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อกดดันราคาให้อยู่ในระดับต่ำ ก่อนที่กิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกจะได้รับแรงกระตุ้นอีกครั้งหลังจากที่สูญเสียปัจจัยหนุนในปีที่แล้ว โดยเศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้น 7.8 % ในปี 2012 ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1999
        นางเหริน เซียนฟาง นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทไอเอชเอส โกลบัลอินไซท์ กล่าวว่า "ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนม.ค.-ก.พ.บ่งชี้ถึงภาวะไร้ทิศทาง"
        "ตัวเลขภาคอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อบ่งชี้ถึงภาวะร้อนแรงจนเกินไปในขณะที่ IP, FAI และสัญญาณบ่งชี้ช่วงแรกสำหรับภาคการผลิต เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) อยู่ในภาวะเฉื่อยชาอีกครั้ง" นางเหรินกล่าว
        จีนได้เปิดเผยดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมาและดัชนีดังกล่าวบ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคโรงงานในจีนได้ร่วงลงแตะจุดต่ำสุดรอบหลายเดือนในเดือนก.พ. ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศลดลงอีกครั้ง
        กำลังการผลิตส่วนเกินยังคงอยู่ในระดับสูงในจีน เนื่องจากตัวเลขราคาผู้ผลิตที่ออกมาในวันเสาร์แสดงให้เห็นว่า ราคาที่หน้าโรงงานยังคงประสบภาวะเงินฝืดในเดือนก.พ. โดยราคาดังกล่าวร่วงลง 1.6 % ต่อปีในเดือนก.พ.
หลังจากปรับตัวลงในอัตราเดียวกันในเดือนม.ค.
        ราคาผู้ผลิตขยับขึ้น 0.2 % เมื่อเทียบรายเดือน และตัวเลขนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า อุปสงค์ในสินค้าจีนกำลังเข้าสู่เสถียรภาพ
        อย่างไรก็ดี อุปสงค์จากต่างประเทศยังคงอยู่ในภาวะไม่แน่นอน ถึงแม้รายงานในวันศุกร์ระบุว่า ยอดส่งออกของจีนพุ่งขึ้น 21.8 % ในเดือนก.พ.ปีนี้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2012
        การพุ่งขึ้นของยอดส่งออกเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปของจีนยังคงมีแนวโน้มดำเนินต่อไป และบ่งชี้ว่าอุปสงค์ในตลาดโลกกำลังฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ดี ยอดนำเข้าอยู่ในระดับต่ำเกินคาด โดยดิ่งลง 15.2 % จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และลงไปแตะจุดต่ำสุดในรอบ 13เดือน โดยตัวเลขนี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจภายในประเทศของจีน
        นายจาง จีเว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของบริษัทโนมูระ กล่าวว่า"เศรษฐกิจจีนกำลังได้รับแรงกระตุ้นจากอุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆแต่ตัวเลขในระยะนี้ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่า เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่"
        ปริมาณการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นในเดือนม.ค. และนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า ปริมาณการปล่อยกู้ในเดือนก.พ.จะอยู่สูงกว่าระดับในเดือนพ.ย.และธ.ค. เมื่อจีนเปิดเผยตัวเลขเดือนก.พ.ในช่วงต่อไปในเดือนนี้ โดยตัวเลขที่ออกมาตรงตามคาดแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ทางการเงินในจีนยังคงอยู่ในภาวะผ่อนคลาย
        หนังสือพิมพ์ไชน่า ซีเคียวริตีส์ เจอร์นัลรายงานว่า ธนาคารกลางจีน(PBOC) ตั้งเป้าหมายปริมาณการปล่อยกู้ใหม่ในรูปสกุลเงินหยวนไว้ที่ 8.5 ล้านล้านหยวนสำหรับปีนี้ และตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตของปริมาณเงิน M2 ไว้ที่13 % ต่อปี
        ภาวะสภาพคล่องที่ผ่อนคลายช่วยกระตุ้นการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนในช่วงที่ผ่านมา โดยปริมาณการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทะยานขึ้น 22.8 %ในเดือนม.ค.-ก.พ.ปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2012 และส่งผลให้ราคาบ้านพุ่งขึ้น รวมทั้งทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ผู้กำหนดนโยบายของจีนอาจจะคุมเข้มภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อสกัดกั้นความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์
        ราคาอาหารอาจจะเป็นปัจจัยที่ใหญ่ที่สุดที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ.บิดเบือนไป โดยราคาอาหารพุ่งขึ้น 6 % ต่อปีในเดือนก.พ. และอาจได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารก่อนเทศกาลตรุษจีน
        ตัวเลขเศรษฐกิจที่ไร้ทิศทางจะส่งผลให้การปรับรายละเอียดในนโยบายกลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่จีนกำลังจะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ โดยในวันที่ 17 มี.ค.นี้ นายสี จิ้นผิงจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของจีน ในขณะที่นายหลี่ เค่อเฉียงจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
        นางเหรินกล่าวว่า "รัฐบาลจีนเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบากในการจัดการกับเศรษฐกิจที่ชะลอการเติบโต และจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอีกครั้ง" และเขากล่าวเสริมว่ารัฐบาลแทบไม่มีโอกาสในการปรับนโยบายการเงินอย่างแท้จริง
        นางเหรินกล่าวว่า "ปัญหาของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายในปีนี้ คือการสร้างความสมดุลระหว่างการจำกัดภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ กับการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ออกจากภาวะเฉื่อยชา"
(ข่าวจาก สำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น