xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News 04/03/56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



  • ดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.9  จาก 47.8 ในเดือนก่อน   แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงหดตัว โดยเยอรมนีมีดัชนี PMI ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.3 จุด ซึ่งแสดงว่าการผลิตของเยอรมนียังคงขยายตัว ขณะที่ภาคการผลิตของฝรั่งเศส สเปน และอิตาลียังคงหดตัวด้วยดัชนี PMI ที่ 43.9 46.8 และ45.8 ตามลำดับ

  • อัตราการว่างงานของยูโรโซนในเดือนม.ค. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแตะระดับ 11.9% จากระดับ 11.8% ในเดือนก่อน โดยประเทศที่มีอัตราว่างงานสูงสุดคือ กรีซที่ 27% รองลงมาคือ สเปน 26.2% บ่งชี้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสเปนยังคงมีความไม่แน่นอนและยังน่าวิตกกังวล แม้ว่าจะปรับลดลงได้ก่อนหน้าในเดือนธ.ค. และโปรตุเกส 17.6% ขณะที่ออสเตรียมีอัตราการว่างงานต่ำสุดเท่ากับ 4.9% รองลงมาคือ เยอรมนีและลักเซมเบิร์กที่ 5.3% ทั้งนี้ ยูโรสแตทประเมินว่า มีประชากรจำนวนถึง 18.998 ล้านคนในยูโรโซนที่ยังว่างงาน

  • ยอดค้าปลีกของเยอรมนีในเดือนม.ค.เพิ่มขึ้น 3.1% เป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 ปี โดยเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานที่ลดลง และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิต

  • การใช้จ่ายส่วนบุคคลของสหรัฐในเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 0.2% ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลหดตัวลง 3.6% ลดลงมากที่สุดในรอบ 20 ปี และอัตราการออมเงินลดลง 2.4% ซึ่งบ่งชี้ว่า ในภาวะที่รายได้ปรับลดลง ผู้บริโภคเลือกที่จะใช้จ่ายมากกว่าการออมเงิน

  • ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐในเดือนก.พ.เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 54.2 จากระดับ 53.1 ในเดือนก่อน เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นดีกว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ อย่าง จีน และยูโรโซนที่มีดัชนีภาคการผลิตปรับลดลง

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐในเดือนก.พ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 77.6 จากระดับ 73.8 ในเดือนก่อนดีกว่าที่คาดการณ์    โดยดัชนีคาดการณ์สำหรับ 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้ติดตามทิศทางการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับเพิ่มขึ้นแตะ 70.2 และดัชนีภาวะปัจจุบันเพิ่มขึ้นแตะ 89   ซึ่งสะท้อนว่า ชาวอเมริกันยังมีมุมมองบวกต่อสถานการณ์ทางการเงินของตนเอง

  • ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ลงนามในคำสั่งเริ่มบังคับใช้มาตรการลดการใช้จ่าย วงเงินรวม 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์แล้ว  ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่พรรคเดโมแครต และรีพับลิกันประสบความล้มเหลวในการหาทางออกร่วมกันเพื่อหลีกเลี่ยงการลดงบประมาณแบบอัตโนมัติ ทั้งนี้ ฟิทช์ เรทติ้ง เคยประกาศว่า การลดรายจ่ายอัตโนมัติของสหรัฐในวันที่ 1 มี.ค.จะไม่นำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ

  • อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเดือนม.ค.อยู่ที่ -0.2%  เป็นระดับติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และยังคงห่างจากเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำให้คาดว่า การประชุมภายใต้ผู้ว่าฯคนใหม่ในวันที่ 3-4 เม.ย.นี้  จะมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่กำหนดไว้

  • รมว.คลังญี่ปุ่นเรียกร้องให้บริษัทเอกชนขึ้นค่าแรงให้กับพนักงาน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในญี่ปุ่น และย้ำว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้นหากรายได้ประชาชนไม่เพิ่มขึ้น

  • ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนในเดือนก.พ. ลดลงมาอยู่ที่ 50.1 จุด จาก 50.4 จุดในเดือนก่อน เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และสูงกว่าระดับ 50 จุดที่บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น   ทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณความไม่แน่นอนอีกครั้ง

  • ดัชนีภาคการบริการของจีนในเดือนก.พ. หดตัวลงมาอยู่ที่ 54.5 จาก 56.2 ในเดือนก่อน จากการหดตัวลงของอุตสาหกรรมก่อสร้างเนื่องจากเป็นเดือนที่มีช่วงวันหยุดยาวจากเทศกาลตรุษจีน ทั้งนี้ ธุรกิจภาคการบริการเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจจีนด้วยสัดส่วน 45% ของ GDP ในปีที่ผ่านมา

  • ราคาบ้านใหม่ในจีนประจำเดือนก.พ. เท่ากับ 9,893 หยวน/ตร.ม. เพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อน   เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9   ทำให้มีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะออกมาตรการควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้

  • รองผู้ว่าการธนาคารกลางของจีนประกาศความพร้อมในการรับมือสงครามค่าเงิน โดยได้เตรียมพร้อมทั้งด้านนโยบายการเงินและการจัดการอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม รองผู้ว่าฯเชื่อว่า จะสามารถหลีกเลี่ยงสงครามค่าเงินได้  หากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจร่วมมือกันตามข้อตกลงในที่ประชุม G20

  • สาขาย่อยของธนาคารกลางจีนในหลายเมืองอาจกำหนดให้ผู้ซื้อบ้านต้องวางเงินดาวน์และอัตราดอกเบี้ยจำนองบ้านมือสองเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ในหลายเมืองที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

  • รมว.กระทรวงการคลังสิงคโปร์ กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการป้องกันภาวะฟองสบู่มากกว่า ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นจากผลของมาตรการต่างๆที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา

  • อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียในเดือนก.พ. อยู่ที่ 5.31% เพิ่มขึ้นจาก 4.57% ในเดือนก่อน  และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือน   จากราคาอาหารและพลังงานที่เร่งตัวขึ้นตามการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการขึ้นภาษีพลังงาน    ทำให้โอกาสที่ธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีโอกาสน้อยลง

  • อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนก.พ.อยู่ที่ 3.23%  ชะลอตัวลงจาก 3.39% ในเดือนก่อน   และมีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 1.57% จาก 1.59%ในเดือนก่อน เป็นผลมาจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 0.08% ขณะที่ราคาสินค้าหมวดอื่นๆปรับตัวสูงขึ้น 0.36% จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ 2.81% ทั้งนี้ ก.พาณิชย์คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2556 จะอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.80% - 3.40%

  • รมว.การคลังยืนยันไม่ปรับลดราคารับจำนำข้าว หลังจากก่อนหน้านี้มีข่าวว่า คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)จะปรับลดราคารับจำนำลงเหลือ 13,000 บาทต่อตัน จากเดิม 15,000 บาทต่อตัน      อย่างไรก็ตาม ได้มีการเลื่อนประชุมกขช.ออกไปเป็นช่วงกลางเดือนมี.ค. เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ทำการรวบรวมข้อมูลต้นทุนการผลิตข้าวทั้งหมด และนำกลับมาพิจารณาเพื่อตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง




  • SET Index ปิดที่ 1,539.60 จุด ลดลง 1.98 จุด หรือ -0.13% มูลค่าซื้อขาย 64,494.28 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,222 ล้านบาท    ทั้งนี้ ดัชนีฯปรับตัวลดลงในช่วงท้ายตลาดหลังจากดัชนี PMI ของจีนออกมาต่ำกว่าคาดการณ์   รวมทั้งความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองของอิตาลี และการเจรจาปรับลดงบประมาณรายจ่ายของสหรัฐ   




  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วงระหว่าง -0.01% ถึง 0.02%   สำหรับวันนี้ไม่มีการประมูลพันธบัตร


กำลังโหลดความคิดเห็น