“สภาพัฒน์” เผยอัตราว่างงาน Q4/55 ลดเหลือ 0.48% ทั้งปี 0.66% สำหรับด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทยที่ต้องเฝ้าระวัง โดยด้านครัวเรือนเสี่ยงเป็นหนี้ซ้ำซ้อน และเป็นหนี้มากกว่าการออม ซึ่งครัวเรือนมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยอัตราการว่างงานในไตรมาส 4/55 อยู่ในระดับ 0.48% โดยมีจำนวน 190,245 คน ลดลงจากอัตรา 0.63% ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.7% หรือผู้มีงานทำ 39.6 ล้านคน ซึ่งการจ้างงานภาคเกษตรมีการขยายตัวมากที่สุด 3.0% ขณะที่อัตราการว่างงานเฉลี่ยปี 55 อยู่ในระดับที่ 0.66% มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.2%
สำหรับภาพรวมตลาดแรงงานอยู่ในภาวะตึงตัวในกลุ่มแรงงานกึ่งทักษะหรือการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ แต่มีการผลิตกำลังแรงงานส่วนเกินในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและปริญญาตรี ส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนตลอดปีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 16.8% และค่าจ้างแรงงานแท้จริงเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 ส่วนหนึ่งเนื่องจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทยที่ต้องเฝ้าระวัง โดยด้านครัวเรือนเสี่ยงเป็นหนี้ซ้ำซ้อน และเป็นหนี้มากกว่าการออม ซึ่งครัวเรือนมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคบุคคลมีมูลค่า 2,914,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.6% เป็นการเพิ่มขึ้นมาในสินเชื่อรถยนต์ และจักรยานยนต์ ส่วนโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลนั้น ยังไม่สามารถประมาณการณ์ได้ว่าจะส่งผลต่อภาวะหนี้ที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งคงต้องรอข้อมูลจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะประเมินภาพรวมภาวะหนี้ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 56 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการส่งมอบรถยนต์คันแรกไปแล้ว
ขณะที่การผิดชำระหนี้ยังอยู่ในระดับสูง เห็นได้จากการผิดชำระหนี้เกิน 3 เดือนของสินเชื่อภายใต้การกำกับ และสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 28.1% และ 3.2% ตามลำดับ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 20.5%
รองเลขาฯ สภาพัฒน์กล่าวว่า ต้องเตรียมความพร้อมกำลังคนทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการแก้ไข ปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนและคลอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม เพื่อเร่งขับเคลื่อนกำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ และเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในช่วงปี 56-57 ซึ่งระยะสั้นต้องเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ควบคู่ไปกับการวางพื้นฐานการปรับโครงสร้างแรงงานในระยะยาว ทั้งทางด้านการศึกษา ทักษะแรงงาน การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน การเพิ่มขึ้นสัดส่วนแรงงานในระบบ