“สวนดุสิตโพล” ส่งทีมสำรวจเพื่อจัดทำฐานข้อมูลร้านค้า หาบเร่ แผงลอย และครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้เพื่อช่วยลดผลกระทบการปรับขึ้นราคาแอลพีจี ลงพื้นที่กรุงเทพฯ หลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 3 มี.ค. 56 หวั่นเป็นประเด็นการเมือง เผยสำรวจเบื้องต้นร้านค้าแฟรนไชส์ส่อแห้วได้รับการช่วยเหลือ
นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยถึงโครงการจัดทำฐานข้อมูลร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร และครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาแอลพีจีว่า ขณะนี้ได้ส่งทีมสำรวจลงพื้นที่ประมาณ 3,000 คนเพื่อจัดทำสำมะโนร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารและครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ทั่วประเทศ 77 จังหวัดเพื่อหามาตรการช่วยเหลือลดผลกระทบการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจี ยกเว้นในเขตกรุงเทพมหานครที่ยังไม่ลงพื้นที่ โดยจะรอให้พ้นหลังการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครในวันที่ 3 มี.ค.ไปก่อนเพราะไม่ต้องการให้เกิดความสับสนและนำไปสู่ประเด็นทางการเมือง
“เวลานี้ กทม.มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถ้าทีมเราส่งไปสำรวจซึ่งจะมีการแจกแผ่นพับความจริงวันนี้ของแอลพีจีที่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดทำเพื่อให้ความรู้ที่มาที่ไปของแอลพีจีด้วยจะเกิดความสับสน และอาจถูกมองว่ามาหาเสียงให้การเมืองหรือไม่ คงต้องรอให้ผ่านไปก่อน” นายสุขุมกล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุดจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในบางจังหวัด เช่น หนองคาย ลำปาง สมุทรสาคร นครปฐม ฯลฯ มีประเด็นร้านค้าหาบเร่ที่ไปสำรวจพบมีการจ้างลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าวไม่มีบัตรประชาชน และเมื่อสำรวจลงลึกจึงพบว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นระบบแฟรนไชส์ที่มีเครือข่าย 10-12 ร้านค้า ซึ่งประเด็นนี้จึงจะจัดทำเป็นกลุ่มพิเศษและนำเสนอภาครัฐให้พิจารณาว่าควรจะเข้าข่ายผู้มีรายได้ต่ำที่รัฐควรจะมีมาตรการช่วยเหลือให้ใช้แอลพีจีราคาคงเดิมหรือไม่ เนื่องจากระบบ แฟรนไชส์นั้นยอมรับว่าส่วนใหญ่เจ้าของธุรกิจน่าจะจัดเป็นผู้มีรายได้สูง
สำหรับการสำรวจจะจัดทำแบบฟอร์มลงทะเบียนเพื่อระบุตำแหน่งร้านค้า และบริเวณในการจำหน่ายของหาบเร่ แผงลอยอาหาร และครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยใช้หมายเลขบัตรประชาชนในการลงทะเบียนรับสิทธิ์ การจัดเก็บข้อมูลจะกำหนดตำแหน่งดาวเทียมเป็นพิกัด GPS และพร้อมถ่ายรูปร้านค้า หาบเร่ ตามแหล่งชุมชน ซึ่งขณะนี้ได้มีการนำเข้าเครื่อง GPS มาประมาณ 800 ชุดแล้วโดยมีมูลค่าชุดละ 1,400บาท
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการ สนพ.กล่าวว่า ปี 2556 ภาครัฐมีแนวทางจะปรับราคาแอลพีจีครัวเรือนและขนส่งจากครัวเรือนราคา 18.13 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และขนส่งที่ 21.38 บาทต่อ กก.ไปสู่ราคาเดียวกันที่ 24.82 บาทต่อ กก. เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะต้องเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาอุดหนุนซึ่งถือเป็นการบิดเบือนโครงสร้างและสร้างความไม่เป็นธรรมสำหรับใช้ผู้น้ำมัน
อย่างไรก็ตาม การปรับราคาดังกล่าวรัฐบาลมีแนวทางที่จะช่วยเหลือให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย 2 กลุ่มที่จะให้ใช้แอลพีจีในราคาเดิม 18.13 บาทต่อ กก. คือ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยประมาณ 8.4 ล้านครัวเรือนที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน และผู้ไม่มีไฟฟ้าใช้ และกลุ่มหาบเร่แผงลอย 5 แสนราย ซึ่งขณะนี้ สนพ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตในการจัดทำโครงการจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้ ซึ่งคาดว่าผลสำรวจจะสรุปได้ภายในไม่เกินสิ้นเดือน มี.ค. 56 หลังจากนั้นจะนำไปสู่การพิจารณามาตรการช่วยเหลือต่อไป