xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ ธ.ค. 3.63% พุ่งสูงสุดในรอบปี ตั้งเป้าปี 56 โต 2.8-3.4%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปิดฉากเงินเฟ้อปี 55 เดือน ธ.ค.พุ่ง 3.63% สูงสุดในรอบปี แต่ยอดทั้งปีโต 3.02% อยู่ในเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ส่วนปี 56 คาดโต 2.8-3.4% ยันขึ้นค่าแรงกระทบเงินเฟ้อจิ๊บจ๊อยแค่ 0.1%

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.2555 เท่ากับ 116.86 สูงขึ้น 3.63% เมื่อเทียบกับ ธ.ค. 2554 ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดของปีนี้ และสูงขึ้น 0.39% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2555 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2555 สูงขึ้น 3.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา และเป็นอัตราที่อยู่ในเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 3-3.4%

สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน ธ.ค.ขยายตัวสูง 3.63% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 4% โดยสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น ได้แก่ ผักและผลไม้ เพิ่ม 16.79% เครื่องประกอบอาหาร 2.4% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.58% อาหารปรุงสำเร็จ 2.74% ส่วนหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 3.39% สินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 14.40% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก 3.38% และบุหรี่ เหล้า และเบียร์ 7.59% เป็นต้น

ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี 2555 ที่สูงขึ้น 3.02% มาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 4.85% และดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.85% โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง 2.11% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.73% อาหารสำเร็จรูป 5.57% เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 0.96% เคหสถาน 2.73% น้ำประปา 6.64% ไฟฟ้า 15.78% ค่าเช่าบ้าน 0.42% การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 1.09% ยานพาหนะและการขนส่งและการสื่อสาร 1.56% บันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา 0.41% ยาสูบและเครื่องอื่มมีแอลกอฮอล์ 2.95%

นางวัชรีกล่าวว่า สำหรับเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวระดับ 2.8-3.4% ภายใต้สมมุติฐาน คือ ระดับน้ำมันดิบตลาดดูไบ 100-120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 28.5-32.5 บาท/เหรียญสหรัฐ และรัฐบาลยังคงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้ประชาชน โดยปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นเรื่องของราคาอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มผักสดและผลไม้ และกลุ่มเนื้อสัตว์ หมู ไข่ไก่ ที่ราคาจะมีความผันผวนตามฤดูกาลและภัยธรรมชาติ

ส่วนผลการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อเงินเฟ้อ มีผลกระทบเพียง 0.1% และมีผลต่อราคาสินค้าไม่มาก เนื่องจากจังหวัดใหญ่ 7 จังหวัดซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมได้มีการปรับขึ้นค่าแรงไปแล้วตั้งแต่ 1 เม.ย. 2555 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2556 ที่ปรับขึ้นทุกจังหวัด มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานมาก เช่น เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และบริการต่างๆ แต่ไม่ได้มีผลให้ต้องปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะผู้ประกอบการได้มีการปรับตัว และยังมีการแข่งขันกันสูง

นางวัชรีกล่าวว่า กระทรวงฯ จะปรับฐานรายการสินค้าในตะกร้าที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อในปี 2556 ใหม่ จากเดิมที่ใช้ฐานในปี 2550 ซึ่งมีรายการสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ 417 รายการ โดยจะปรับมาใช้ฐานปี 2554 และเพิ่มรายการสินค้าขึ้นมาเป็น 450 รายการ เพื่อให้ครอบคลุมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสินค้าที่จะนำมาบรรจุในการคำนวณเงินเฟ้อ เช่น ก๊าซเอ็นจีวี แก๊สโซฮอล์ ค่าดูแลความปลอดภัย ค่าดูแลสุขภาพ ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าโดยสารรถตู้ข้ามจังหวัด ค่าเช่ารถ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น